fbpx
Digital Learning Classroom
บทความ

Social Movement “การเคลื่อนไหวทางสังคม”

แชร์เรื่องนี้

Social Movement หรือ “การเคลื่อนไหวทางสังคม” เป็นปฏิบัติการของกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน ที่มีความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ให้มีการเปลี่ยนแปลง ในประเด็นต่าง ๆ เช่น ด้านการเมือง ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเชื้อชาติ สิทธิผู้หญิง LGBT โรคเอดส์ คนพิการ ฯลฯ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวว่าการเคลื่อนไหวทางสังคม หมายถึง ปฏิบัติการของกลุ่มคนที่มีเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง  ซึ่งการรวมกลุ่มของคนอาจจะเป็นทางการ และไม่เป็นทางการก็ได้

สำหรับทางมานุษยวิทยามองว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเป็นเรื่องการเมือง เช่น การต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม  เชื้อชาติ ความเท่าเทียมของเกย์ เลสเบี้ยน การดูแลรักษาผู้ป่วยเอดส์  สิทธิการตั้งครรภ์ และความเท่าเทียมของสตรี รวมทั้งการต่อสู้เชิงอนุรักษ์นิยม เช่น การต่อต้านการทำแท้ง เป็นต้น

ในอดีต นักมานุษยวิทยามักอธิบายการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยทฤษฎีของมาร์กซิสต์ เฟมินิสต์ และแนวคิดโครงสร้างนิยม

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ ให้คำนิยามของคำว่า “ขบวนการทางสังคมแนวใหม่” เป็นการชี้ให้เห็นการปรับกระบวนทัศน์ในการทำงานในการขับเคลื่อนทางสังคมจากเดิม เช่น

ขบวนการทางสังคม (Social Movement) คือการรวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อเป้าหมายบางอย่างที่สมาชิกของกลุ่มมีร่วมกัน เช่น ขบวนการแรงงานแบบเดิมเคลื่อนตัวเพื่อขอปรับค่าจ้างแรงงาน หรือขอเพิ่มสวัสดิการจากผู้บริหาร ส่วนขบวนการเกษตรกรแบบเดิมเคลื่อนตัว เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปรับราคาสินค้าเกษตร หรือให้ความช่วยเหลือด้านวัตถุดิบหรือการลงทุนในการเพาะปลูก เป็นต้น

แต่ขบวนการทางสังคมแนวใหม่ (New Social Movement) เป็นการรวมตัวของผู้ที่มีเป้าหมายมากกว่าผลประโยชน์เฉพาะของกลุ่ม โดยเน้นที่เป้าหมายของการปรับเปลี่ยนทางสังคมที่กว้างขวาง และสามารถสร้างผลกระทบต่อสาธารณชนโดยรวมด้วย

Waragorn Keeranan ได้เขียนถึงการเคลื่อนไหวทางสังคมถือว่าเป็น ‘ศัพท์เทคนิค’ คำหนึ่ง โดยรวมแล้วหมายถึงกลุ่มคนหรือกลุ่มการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเป้าหมายความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ส่วนใหญ่อาจเป็นกลุ่มการเมืองหรือเป็นชุดการรณรงค์ที่ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะกระแสการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี หรือการเดินขบวนของคนผิวสี

ซึ่งการต่อสู้ที่ว่าก็ไม่จำเป็นต้องมีการจัดตั้งองค์กรหรือเป็นกลุ่มม็อบ แต่เป็นกระแสที่พูด และเรียกร้องในประเด็นต่างๆ เป็นการต่อสู้เชิงความคิด เช่น กระแสเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศของเพศทางเลือก กระแสการรณรงค์เรื่องการคุกคามทางเพศ

ซึ่งสุดท้ายความเคลื่อนไหวพวกนี้ก็มักจะกลับมาเกี่ยวข้องกับพวกเราโดยตรง ไม่ว่าจะในระดับความคิด ความเชื่อ ไปจนถึงระดับนโยบาย เช่น การแต่งงานของเพศเดียวกัน การรับผู้อพยพ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  กล่าวว่า การเคลื่อนไหวทางสังคมเกี่ยวข้องกับสังคมสมัยใหม่ กล่าวคือ เมื่อตะวันตกเริ่มใช้อุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความคิดเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกก็เริ่มมีบทบาทสำคัญของพลเมือง เมื่อประชาชนรู้สึกว่าตนเองถูกกดขี่ข่มเหง ไม่ได้รับความเท่าเทียม และความเป็นธรรม ทำให้พวกเขาออกมาแสดงออกทางความคิด และวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาทางสังคมต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่การรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องสิทธิหรือประท้วงการบริหารงานของรัฐ

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมักจะเกี่ยวกับเรื่องสำคัญ 4 เรื่อง ดังนี้

1. ความสัมพันธ์ระหว่างยุทธศาสตร์กับอัตลักษณ์ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักสังคมวิทยาและนักรัฐศาสตร์ในอังกฤษและอเมริกา ส่วนอธิบายเกี่ยวกับโครงสร้าง ทรัพยากร และเป้าหมายของการประท้วง  ตรงข้ามกับนักคิดในภาคพื้นยุโรปที่สนใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์ซึ่งมีเรื่องของมุมมองทางการเมืองและจินตนาการรวมหมู่

2. ความขัดแย้งและการลื่นไหล  “การเคลื่อนไหว” บ่งบอกถึงความเป็นหนึ่งเดียว การศึกษาชี้ให้เห็นว่าภายในองค์กรการเคลื่อนไหวก็มีความตึงเครียด ดังนั้นกลุ่มการเคลื่อนไหวจึงมิได้มีเอกภาพแต่มีลักษณะของการไกล่เกลี่ยต่อรองเพื่อแบ่งแยกและร่วมมือ  การศึกษาแนวใหม่สนใจเรื่องประชาชนที่อาจเข้าไปพัวพันหรือหลีกหนีจากการดิ้นรนทางสังคม  นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าการต่อสู้ของปวงชนมิได้มีภาพสวยงามหรือสมดุล แต่ปวงชนมีการต่อรอง แบ่งแยก และไม่มีความมั่นคง

3. เกี่ยวกับศักยภาพของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่จะเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สมบูรณ์   การต่อต้านขัดขืนในชีวิตประจำวัน เช่น การนินทา มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง  กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมคือเหตุการณ์ที่อยู่ระหว่างการขัดขืนและการปฏิวัติ  นักวิชาการบางคนเชื่อว่ากระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นการแสดงออกของประชาธิปไตยและเสรีภาพของประชาชน  นักวิชาการที่อธิบายในทำนองนี้ชี้ให้เห็นความสามารถของประชาชนในการกระทำและคิดสิ่งต่างๆเพื่อทำให้การเคลื่อนไหวขยายออกไปกว้างขวาง  ตัวอย่างเช่น  การเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิความเท่าเทียมของสตรีในอเมริกาและยุโรปขยายตัวอย่างกว้างขวางไปยังเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา  ในทางตรงกันข้าม แนวคิดของคานธีเรื่องความไม่รุนแรง ค่อยๆแผ่ขยายจากอินเดียไปสู่ประเทศตะวันตก

4. เกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของนักมานุษยวิทยา  นักมานุษยวิทยาหลายคนอธิบายว่าจะต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของนักมานุษยวิทยาที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางสังคม  ที่ผ่านมาการเข้าไปมีส่วนในองค์กรภาครัฐหรือองค์กรพัฒนา เป็นโอกาสที่จะทำให้เห็นการเคลื่อนไหวทางสังคม นักมานุษยวิทยาหลายคนเชื่อว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมจะเป็นเครื่องมือของการต่อสู้เพื่อนสันติภาพและความยุติธรรม  การเคลื่อนไหวทางสังคมชี้ให้เห็นว่าประชาชนมิใช่คนที่อยู่นิ่งหรือเป็นฝ่ายรับอย่างเดียว  ในทางตรงกันข้ามการต่อสู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหากตกอยู่ในอำนาจทางเศรษฐกิจ การเคลื่อนไหวทางสังคมอาจมีความหมายที่เปลี่ยนไป


การเคลื่อนไหวที่เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เช่น การเรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนดำในสหรัฐฯ ซึ่งนำโดย มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ที่เป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาตร์ ที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในหลักของสิทธิมนุษยชน ซึ่งในช่วงนั้นเป็นเหตุการณ์การเหยียดสีผิวที่รุนแรงมากในอเมริกาในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่การห้ามคนผิวสีขึ้นรถเมลร่วมกับคนผิวขาว ไปถึงการปิดกั้นการศึกษาสำหรับคนผิวสี. เขาได้ต่อสู้เพื่อคนผิวสีเพื่อสิทธิ และเสรีภาพโดยชอบธรรมจนเขาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านเพื่อความอยุติธรรมทางเชื้อชาติจวบจนทุกวันนี้

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์

อาหรับสปริงส์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน มีผลกระทบเป็นลูกโซ่ที่ไม่มีวี่แววว่าจะจบลง โดยเกิดเหตุการณ์เล็ก ๆ ที่เกิดในตูนิเซีย เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2010 มุหัมมัด โบอะซิซิ เด็กหนุ่มชาวตูนิเซียได้เผาตัวเองเพื่อประท้วง ความคดโกงและความไม่เป็นธรรมที่เขาได้รับจากการกระทำของตำรวจ นำไปสู่การล้มอานาจของประธานาธิบดี ไซน์ อาบีดีน บิน อาลี ( زيه العابديه به علي ) และต้องลี้ภัยในประเทศซาอุดีอะราเบียในวันที่ 14 มกราคม 2011

รวมถึงในประเทศอียิปต์ประธานาธิปดีฮุสนี มุบารอก ต้องลงจากอานาจในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2011 หลังจากการประท้วงใหญ่ 18 วัน อันเป็นการสิ้นสุดการครองอานาจ 30 ปีของเขา การเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศตูนิเซียและอียิปต์ค่อนข้างราบรื่น

ประธานาธิปดีฮุสนี มุบารอก

แตกต่างไปจากที่เกิดขึ้นในลิเบีย ที่นำไปสู่สงครามกลางเมือง และการแทรกแซงของกองกำลังนาโต้ เพื่อเปิดทางให้กองกำลัง National Transitional Council (NTC) เข้าควบคุมกรุงทริโปลีในวันที่ 23 สิงหาคม 2011 ล้มอานาจของผู้นาลิเบีย มุอัมมัร กัดดาฟี และเขาได้ถูกสังหารในวันที่ 20 ตุลาคม 2012 ในเมือง Sirte ที่เป็นบ้านเกิดของเขาเอง เป็นต้น

มุอัมมัร กัดดาฟี

 หรือแม้กระทั่งการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการของนักศึกษาไทยในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และ 6 ตุลาฯ 2519

 

ภาพเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และ 6 ตุลาฯ 2519

รวมถึง โครงการก้าวคนละก้าวเพื่อระดมทุนเพื่อโรงพยาบาลโดย ตูน บอดี้สแลม ที่ตกเป็นที่สนใจของคนไทยจำนวนมากก็ถือเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบหนึ่งเช่นเดียวกัน

เทรนด์ ‘การเคลื่อนไหวทางสังคม’ ปี 2017 

1. Sexual harassment movement การคุกคามทางเพศป็นการออกมารณรงค์และเปิดเผยเรื่องราวประสบการณ์ของเหยื่อจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การออกมาพูดของผู้ถูกกระทำถือเป็นการแบ่งปันเรื่องราวและเป็นการให้พลังกับผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผลคือเราพบว่าในโลกของการทำงาน มีผู้หญิงที่ถูกฉวยโอกาสจากผู้บังคับบัญชามากมาย และเราอาจหวังผลได้ว่ากระแสนี้อาจช่วยสร้างความตระหนักและลดการคุกคามทางเพศไม่ว่าจะต่อเพศใดก็ตาม

2. Black Lives Matter กระแสการต่อสู้สิทธิและความเท่าเทียมของคนผิวดำเป็นประเด็นต่อสู้เคลื่อนไหวกันมาอย่างยาวนาน แม้ว่าทุกวันนี้ในสหรัฐจะมีการให้สิทธิและเสรีภาพอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันแล้ว แต่อคติต่างๆ ต่อคนดำก็ยังไม่หายไป กรณี Black Lives Matter เกิดจากอคติที่เชื่อมโยงคนดำเข้ากับความรุนแรงจนกระทั่งเกิดกรณีเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติต่อคนผิวสีด้วยความรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิต กระแส Black Lives Matter นำไปสู่การแสดงออกเพื่อรณรงค์ต่างๆ ตั้งแต่เหล่าดาราคนดังที่ออกมาเรียกร้องทั้งในผลงานและการออกวิพากษ์โดยตรง เช่น Alicia Keys, Beyonce, และ Rihanna ไปจนถึงเกิดการเดินขบวนต่อต้านในหลายๆ รัฐ รวมถึงในวอชิงตัน พื้นที่เดิมที่เคยมีการเดินขบวนใหญ่ในสมัยลูเทอร์ คิง

3. Women’s Rights movement ความเท่าเทียมของผู้หญิงกระแสสำคัญก็คือการหาเสียงของ ฮิลลารี คลินตัน ที่จุดประเด็นเรื่อง The glass ceiling หรือเพดานที่มากั้นผู้หญิงจากความก้าวหน้าและการไต่เต้าทางอาชีพ สุดท้ายเราก็ยังมีประเด็นปัญหาเรื่องความเสมอภาคและการยอมรับความสามารถของผู้หญิง เช่นในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็มีการพูดถึงข้อจำกัดที่ผู้หญิงไม่สามารถก้าวหน้าทางอาชีพได้ดีเท่าผู้ชาย หรือในวงการฮอลลีวูดเอง คำว่าเฟมินิสต์ก็ดูจะเป็นคำที่ผู้หญิงแกร่งๆ หลายคนพูดถึงและพยายามผลักดันกันอยู่เสมอ

4. Right Wing movement  การแบ่งขั้วทางการเมืองซ้าย-ขวา เรามีการแบ่งฝ่ายซ้ายว่าเป็นฝ่ายเสรีนิยม และฝ่ายขวาว่าเป็นอนุรักษ์นิยม ระยะหลังจากความเคลื่อนไหวหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น เช่น กรณี Brexit ไปจนถึงชัยชนะของทรัมป์ทำให้เราเห็นว่าโลกค่อนข้างหันไปหาความคิดอนุรักษ์นิยมแบบขวาจัดมากขึ้น คือเริ่มกลับมาสู่ความคิดแบบชาตินิยม ต่อต้านและลอยตัวเองออกจากเชื้อชาติอื่น ความคิดแบบขวาจัดนี้ในสหรัฐฯ เริ่มนำไปสู่การกีดกันคนต่างชาติ ไปจนถึงการกลับมาของกลุ่มหัวรุนแรง เช่นกลุ่ม KKK ที่ต่อต้านความหลากหลายทั้งทางชาติพันธุ์และความหลากหลายทางเพศ

5. LGBTQ Rights movement การต่อสู้เรียกร้องสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีการกราดยิงแหล่งท่องเที่ยว และมีรายงานการใช้ความรุนแรงเพียงเพราะรสนิยม กระแสการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมในความหลากหลายทางเพศจึงเป็นกระแสที่ยังต่อสู้กันอยู่ตลอดเวลา ทั้งในระดับความคิดที่พยายามคัดง้างว่าการรักเพศเดียวกันไม่ใช่โรคไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ไปจนถึงการจัดขบวนพาเหรดและการรณรงค์เรื่องสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม เช่นสิทธิในการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน การต่อสู้เรื่องความหลากหลายทางเพศนี้เป็นการต่อสู้กันอย่างยาวนานและยังคงต้องต่อสู้กันต่อไป กับอคติและการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมเรื่องความปกติและความผิดปกติของความรัก

6. Climate Change : The ‘Defend Science’ movement  ความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องผลกระทบที่มนุษย์ทำจะส่งผลโลกอย่างเป็นรูปธรรมและรุนแรงจนเกิด ‘ความเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศ’ หรือภาวะโลกร้อน

7. Anti-Islamophobia movement การเฟื่องฟูของฝ่ายขวา แกนสำคัญหนึ่งคือแนวคิดแบบชาตินิยม และพอนิยมชาติตัวเองแล้ว ก็มีการผลักความเป็นอื่น เป็นศัตรูให้กับชาติอื่นๆ … ประเทศและคนที่นับถืออิสลามเป็นกลุ่มคนหนึ่งที่ถูกกีดกันและมอบอคติให้โดยเฉพาะการมองว่าเป็นกลุ่มคนที่อันตราย เป็นผู้ก่อการร้าย เป็นการกีดกันแบ่งแยกจากการนับถือศาสนาและเชื้อชาติ กระแสการต่อต้านนี้เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ ที่มีการออกมาแสดงให้เห็นว่าคนมุสลิมไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เป็นคนๆ หนึ่งที่อยู่ร่วมกันได้ การพยายามทำลายอคตินี้ถูกทำในหลายระดับ ทั้งการนำเสนอภาพของคนมุสลิมในแง่มุมที่หลากหลายและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม การออกมารณรงค์ เช่นการเดินขบวนเพื่อต่อต้านนโยบายกีดกันขับไล่คนอิสลามหรือคนจากโลกอาหรับของทรัมป์ ไปจนถึงในระดับแนวนโยบาย อย่างที่แคนาดาก็มีการออกแนวทางนโยบายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อความกลัวและอคติต่อคนมุสลิมให้เป็นวาระระดับชาติ

ที่มา

http://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/glossary/137

http://www.nhrc.or.th/News/Information-News/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%A1-%E0%B8%82%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%82%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B4.aspx

 

https://thematter.co/pulse/7-global-social-movement/40196

 

 

Comments

comments

Powered by Facebook Comments

ติดต่อ ดร.อนุศร หงษ์ขุนทด
error: Content is protected !!