fbpx
Digital Learning Classroom
DEEPgoogle for educationบทความสื่อการสอน

ตัวอย่างการออกแบบการจัดการเรียนรู้ แบบ Blended Learning ด้วย Google Suite

แชร์เรื่องนี้

เครื่องมือเพื่อการสอนที่ว่าสำคัญแล้ว แต่…การออกแบบการสอน (Instructional System Design : ISD) สำคัญกว่ามากครับ

เมื่อ… Deep By MOE คือแพลตฟอร์ม ด้านการศึกษา เพื่อความเป็นเลิศ พัฒนาครูสอนออนไลน์ จากกระทรวงศึกษาธิการ


DEEP เป็นแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ (Digital Education Excellence Platform) ประกอบไปด้วย เครื่องมือ การจัดการสอนออนไลน์ด้วย G Suite และ Microsoft Teams

และเมื่อถึงเวลาที่ครูต้องนำเครื่องมือจาก DEEP ไปใช้ในกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนสิ่งที่สำคัญกว่า ก็คือการออกแบบการสอน (Instructional System Design : ISD) ในบทความนี้ มีตัวอย่างานวิจัยของผมมาแชร์เพื่อเป็นแนวทางให้กับทุกท่านครับ


ตัวอย่าง…การออกแบบการจัดการเรียนรู้ แบบ Blended Learning ด้วย Google Suite เพื่อพัฒนาทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ด้วยกระบวนการโครงงาน
จะเป็นอีก 1 ตัวอย่างที่ท่านจะสามารถนำมาปรับใช้กับการจัดการเรียนรู้ในยุคนี้ครับ

จากภาพที่สามารถอธิบายขั้นตอนการเรียนการสอน โดยแบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. การเรียนรู้ในห้องเรียน (Classroom) สามารถสรุปเป็น 2 กิจกรรม คือ

กิจกรรมของผู้สอน 7 ขั้นตอนการสอนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยโครงงาน เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ตามแนวทางการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ของผู้เรียนกิจกรรมของผู้เรียนกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก โดยใช้โครงงานเป็นฐาน 6 ขั้นตอน

กิจกรรมของผู้สอน 7 ขั้นตอน

กิจกรรมของผู้สอน 7 ขั้นตอนการสอนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยโครงงาน เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ตามแนวทางการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ของผู้เรียนสามารถอธิบายได้ ดังนี้

ขั้นนำ

1. ผู้สอนแจ้งวัตถุประสงค์ของการทำโครงงาน ระดับการเรียนรู้ หรือพฤติกรรมการเรียนรู้ที่คาดหวังแก่ผู้เรียน

2. ผู้สอนชี้แจงสาระของบทเรียน และความสัมพันธ์กับความรู้ และประสบการณ์เดิมอย่างคร่าว ๆ

3. ผู้สอนชี้แจงกระบวนการเรียนรู้และหน้าที่รับผิดชอบของผู้เรียนในแต่ละขั้นตอน

4. สร้างสถานการณ์ที่ใช้ในการกระตุ้นความสนใจและความต้องการในการแสวงหาความรู้และฝึกปฏิบัติ

5. การเตรียมความพร้อมของวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือกิจกรรมการเรียนรู้

ขั้นนำเสนอบทเรียน

1. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในชั้นเรียน โดยลงมือกระทำมากกว่าการนั่งฟังเพียงอย่างเดียว

2. ลดการถ่ายทอดความรู้จากผู้สอนสู่ผู้เรียนให้น้อยลง และพัฒนาทักษะ การคิด สงสัย และนำไปแก้ปัญหาให้เกิดกับผู้เรียน

3. ผู้เรียนมีส่วนในกิจกรรม เช่น อ่านอภิปราย และเขียน

4. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเลือกกิจกรรม

5. หากเป็นการนำเสนอเนื้อหาสาระ ข้อความรู้ ผู้สอนควรกลั่นกรอง และนำเสนออย่างชัดเจนพร้อมทั้งอธิบาย และยกตัวอย่างประกอบให้ผู้เรียนเข้าใจ

6. ตรวจสอบว่าผู้เรียนมีความเข้าใจตรงตามวัตถุประสงค์ก่อนให้ผู้เรียนลงมือสร้างชิ้นงาน หากผู้เรียนยังไม่เข้าใจ ต้องสอนซ่อมเสริม หรืออธิบายให้เข้าใจก่อน

7. ผู้เรียนรับรู้วัตถุประสงค์ในสิ่งที่จะลงมือสร้างชิ้นงาน

ขั้นสาธิตทักษะและฝึกปฏิบัติตามแบบ

1. ผู้สอนปฏิบัติให้ผู้เรียนดูเป็นตัวอย่าง ผู้เรียนปฏิบัติตาม ผู้สอนให้ข้อมูล ป้อนกลับให้การเสริมแรง หรือแก้ไขข้อผิดพลาดของผู้เรียน

2. ผู้สอนเปิดโอกาสแก่ผู้เรียนในการตอบสนองต่อสิ่งที่รับรู้ ซึ่งอาจใช้วิธีการให้ผู้เรียนเลียนแบบการกระทำ หรือการแสดงทักษะนั้น หรืออาจใช้วิธีการให้ผู้เรียนลองผิดลองถูก จนกระทั่งสามารถตอบสนองได้อย่างถูกต้อง

3. สาธิตเนื้อหา หรือการปฏิบัติให้ผู้เรียนดูทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ

4. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนในการเสนอแนวทางการทำงานของตนเอง หรือการฝึกปฏิบัติเพื่อเป็นการตอบสนองต่อสิ่งที่รับรู้

5. ผู้เรียนจะสามารถบอกได้ว่า ขั้นตอนหลักของการทำงานตามภารกิจมีอะไรบ้าง

6. ผู้เรียนสังเกตการกระทำจากการสาธิตก่อให้เกิดการเลียนแบบที่เป็นขั้นตอนเพื่อให้ผู้เรียนต้องการเรียนรู้

ขั้นการให้ลงมือปฏิบัติ

แนวทางการสอน

1. ผู้เรียนต้องได้รับการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การประเมินค่าซึ่งมุ่งลดกระบวนการถ่ายทอดสารสนเทศให้กับผู้เรียน

2. ผู้เรียนต้องได้รับการบ่มเพาะพัฒนาคุณธรรม เจตคติ และคุณค่าที่มีอยู่ในตัวผู้เรียนรวมทั้งบ่มเพาะด้านสุนทรียภาพ

3. เน้นการสำรวจเจตคติ และคุณค่าที่มีอยู่ในตัวของผู้เรียเอง

4. กิจกรรมการเรียนการสอนที่พัฒนาศักยภาพทางสมอง ได้แก่การคิด การแก้ปัญหา และการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้

5. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนทั้งในด้านการสร้างองค์ความรู้การสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันร่วมมือกันมากกว่าการแข่งขัน

6. ผู้เรียนเรียนรู้ความรับผิดชอบร่วมกันการมีวินัยในการทำงานการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ

7. กิจกรรมการเรียนการสอนควรเน้นทักษะการคิดขั้นสูง

8. ควรเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนบูรณาการข้อมูลข่าวสาร หรือสารสนเทศ และหลักการความคิดรวบยอด

9. ผู้สอนจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติด้วยตนเอง

10. ผู้เรียนได้สื่อสารเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังทำกับผู้อื่น

11. การประเมินการบริหารจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน

12. กำหนดการประจำวันที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอน ผู้เรียน เนื้อหาการจัดการเรียนการสอน

13. กระบวนการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างชิ้นงาน

ขั้นการให้ลงมือปฏิบัติ สามารถแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1. ผู้เรียนสามารถศึกษา และสร้างชิ้นงานได้เองจากโดยที่ไม่ต้องการคำแนะนำจากผู้สอน มีขั้นตอนดังนี้

1.1 แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มย่อย 3-4 คน

1.2 ผู้เรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันวางแผนในการแสวงหาวิธีการสร้างชิ้นงาน

1.3 ใช้วิธีการให้ผู้เรียนลองผิดลองถูก จนกระทั่งสามารถตอบสนองได้อย่างถูกต้อง

1.4 ลงมือสร้างชิ้นงานตามคำสั่งเพื่อให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ในการลงมือทำ และค้นพบปัญหาต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้เกิดการเรียนรู้และปรับการกระทำให้ถูกต้องสมบูรณ์

1.5 ลงมือกระทำจนกลายเป็นกลไกที่สามารถกระทำได้เอง ให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการสร้างชิ้นงาน และเกิดความเชื่อมั่นในการทำสิ่งนั้น ๆ

1.6 ผู้สอนทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการทำงาน

2. ขั้นฝึกปฏิบัติภายใต้การกำกับของผู้ชี้แนะ ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนย่อยของขั้นการให้ลงมือปฏิบัติ โดยที่ผู้เรียนลงมือสร้างชิ้นงานด้วยตนเอง แต่ยังไม่สามารถ สร้างชิ้นงานได้ด้วยตนเองต้องอาศัยเพื่อนหรือมีผู้สอนคอยดูแล ดังนั้นขั้นตอนนี้ผู้สอนจะสามารถประเมินการเรียนรู้และความสามารถของผู้เรียนได้จากความสำเร็จ และความผิดพลาดของการสร้างชิ้นงานของผู้เรียนและให้ความช่วยเหลือผู้เรียน โดยให้ ข้อมูลป้อนกลับเพื่อให้ผู้เรียนแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ

2.1 ผู้เรียนลงมือสร้างชิ้นงานโดยไม่มีการสาธิต หรือมีแบบอย่างให้ดู

2.2 ผู้เรียนเชื่อมโยงทักษะย่อย ๆ เป็นทักษะที่สมบูรณ์

2.3 เมื่อผู้เรียนสามารถสร้างชิ้นงานแต่ละส่วนได้แล้ว จึงให้ผู้เรียนสร้างชิ้นงานต่อเนื่องกันตั้งแต่ต้นจนจบ

2.4 ผู้สอนควรให้คำชี้แนะและช่วยแก้ไขจนกระทั่งผู้เรียนทำได้

2.5 เทคนิควิธีการ เมื่อผู้เรียนสร้างชิ้นงานได้แล้ว ผู้สอนอาจแนะนำเทคนิควิธีการที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำงานนั้นได้ดีขึ้น

ขั้นการฝึกปฏิบัติอย่างอิสระ

หลังจากที่ผู้เรียนสามารถสร้างชิ้นงานตามขั้นการให้ลงมือปฏิบัติได้ถูกต้องประมาณ 85 – 90 % แล้ว ผู้สอนควรปล่อยให้ผู้เรียนสร้างชิ้นงานต่อไปอย่างอิสระ เพื่อช่วยให้เกิดความชำนาญ และการเรียนรู้อยู่คงทน ผู้สอนไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลป้อนกลับในทันที สามารถให้ภายหลังได้ การฝึกในขั้นนี้ไม่ควรทำติดต่อกันในครั้งเดียว ควรมีการฝึกเป็นระยะ ๆ เพื่อช่วยให้การเรียนรู้อยู่คงทนขึ้น ดังนี้

1. ผู้เรียนมีส่วนร่วม โดยเน้นให้เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้

2. ผู้เรียนเรียนรู้แบบรวมพลัง หมายถึงให้ทุกคนได้คิด ทุกคนทำงานเดี่ยว และทุกคนร่วมทำงานกลุ่ม ครูเปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่มีความสามารถ หรือมีความถนัดมากกว่าช่วยเหลือผู้เรียนที่มีความสามารถ และความถนัดน้อย

3. ผู้เรียนทุกคนร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสร้างชิ้นงาน ทำงานอย่างมีชีวิตชีวาอย่างตื่นตัว

4. ผู้เรียนได้พัฒนาการคิดระดับสูงในการวิเคราะห์สังเคราะห์ และประเมินผลการนำไปใช้

5. ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ และจัดระบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง

6. เป็นกระบวนการสร้างสถานการณ์ให้ผู้เรียนอ่านพูดฟังคิดอย่างลุ่มลึกผู้เรียนจะเป็นผู้จัดระบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ขั้นการปรับปรุง

1. ผู้เรียนพัฒนาการคิดระดับสูงในการวิเคราะห์สังเคราะห์ และประเมินผลการนำไปใช้

2. ทั้งผู้เรียนและผู้สอนรับข้อมูลป้อนกลับจากการสะท้อนความคิดได้อย่างรวดเร็ว

3. กลวิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง (Choices for Children)

4. การปรับปรุงเป็นขั้นที่ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาปรับปรุงทักษะ หรือการปฏิบัติของตนให้ดียิ่งขึ้นและประยุกต์ใช้ทักษะที่ตนได้รับการพัฒนาในสถานการณ์ต่าง ๆ ตามความสามารถ และอิสระในการเรียนรู้ของผู้เรียน

5. ผู้เรียนสามารถเข้ารับการประเมินผลการสร้างชิ้นงานได้ตลอดเวลา หรือกี่ครั้งก็ได้ตามความต้องการจนกว่าจะผ่านเกณฑ์ที่กำหนดตามเนื้อหาหรือกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมาย ในขณะทำกิจกรรมในห้องเรียน

ขั้นการคิดริเริ่มและประยุกต์ใช้

ในขั้นตอนนี้ผู้เรียนจะเริ่มเกิดความคิดใหม่ ๆ ในการสร้างชิ้นงาน หรือปรับกระบวนการทำงานให้เป็นไปตามที่ผู้เรียนต้องการ ดังนั้นผู้สอนควรให้ความสนใจ และจัดกิจกรรมเพิ่มเติมจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในห้อง โดยให้การสนับสนุนกับผู้เรียนได้แสดงออกในสิ่งที่ผู้เรียนฝึกปฏิบัติได้ หรือให้แนะนำเพื่อน ๆ ในห้องเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคหรือวิธีการที่ตนเองประสบผลสำเร็จ ดังนี้

1. ผู้สอน และผู้เรียนร่วมกันอภิปรายเพื่อหาแนวทางเทคนิคการทำงานเพิ่มเติม สำหรับใช้ทำงานในครั้งต่อไป

2. ผู้เรียน และผู้สอนรับข้อมูลป้อนกลับจากการสะท้อนความคิดร่วมกัน

3. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความสามารถ และนำเสนอเทคนิควิธีการปฏิบัติที่นอกเหนือจากภารกิจ หรือกิจกรรมที่มอบหมาย

4. ผู้เรียนสามารถนำผลจากการปฏิบัติ หรือการเรียนรู้ ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย

5. ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันอภิปรายวางแผนการจัดกิจกรรมในครั้งต่อไป

กิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกของผู้เรียน

กิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกของผู้เรียนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน แบ่งขั้นตอนการเรียนรู้ออกเป็น 6 ขั้นตอน สามารถอธิบายได้ดังนี้

1. ขั้นนำเสนอหัวข้อ

2. ขั้นการวางแผนกิจกรรม

3. ขั้นการทำโครงงาน

4. ขั้นการสรุปผล

5. ขั้นการนำเสนอโครงงาน

6. ขั้นการประเมินผล

2. การเรียนรู้นอกห้องเรียน (Homework) ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ บนระบบออนไลน์ (Online) ที่มีการส่งผ่านเนื้อหา หรือแหล่งเรียนรู้ (Logistics Media) ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก โดยใช้โครงงานเป็นฐาน แบ่งขั้นตอนการเรียนรู้ออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

2.1 กำหนดเป้าหมายในการทำโครงงาน ผู้สอนจะต้องออกแบบกิจกรรม หรือภาระงาน โดยผู้เรียนจะต้องทราบเป้าหมายของตนเองในแต่ละสัปดาห์ โดยการกำหนด ประเด็นการศึกษาเรียนรู้และการทำโครงงานของตนเอง และผู้เรียนต้องทำการสรุปผล หรือประเด็นต่าง ๆ หรือข้อคำถามหลังจากที่ได้เรียนรู้จากสื่อ หรือคลิปวิดีโอการบรรยายจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ พร้อมทั้งทำโครงงาน ตามที่ได้รับมอบหมาย รวมไปถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมาย ส่วนผู้สอนควรออกแบบการสอนในปริมาณที่เหมาะสม และคำนึงถึงความยากง่ายของกิจกรรม ซึ่งควรใช้ “พื้นที่รอยต่อพัฒนาการ” (Zone of Proximal Development) เพื่อช่วยให้ผู้เรียนบรรลุผลในการเรียนที่สามารถแปลงจากความรู้เดิมเป็นองค์ความรู้ใหม่ นอกจากนี้ผู้สอนควรประยุกต์ใช้เครื่องมือของกูเกิ้ลเพื่อการศึกษา ให้เหมาะสมกับกิจกรรม เพื่อให้การเรียนรู้ หรือการสื่อสารออนไลน์ ให้มีความสมบูรณ์ และช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ตามภาระกิจในแต่ละสัปดาห์

2.2 สร้างชิ้นงานบนสื่อออนไลน์ ผู้สอนต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ด้วยเครื่องมือของกูเกิ้ลเพื่อการศึกษา ในการบันทึกเนื้อหาในการบรรยาย แล้วทำการอับโหลดไฟล์เข้าสู่ระบบต่าง ๆ ผ่านสมาร์ทโฟน แทบเล็ต คอมพิวเตอร์ และG Suite เช่น Docs, Slide, Sheet, Classroom, Forms, Calendar, Mail, Site เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างนวัตกรรมจากโครงงาน เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความสะดวก และง่ายในการเข้าถึงเนื้อหาความรู้สำหรับการเรียนได้ด้วยตนเอง ผู้เรียนสามารถใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อการเรียนรู้ และทำโครงงานร่วมกันกับเพื่อนในห้องเรียน

2.3 การทำงานร่วมกันแบบออนไลน์ ผู้สอนจะต้องออกแบบกิจกรรม ให้สอดคล้องกับการเลือกใช้ สมาร์ทโฟน แทบเล็ต คอมพิวเตอร์ และG Suite เช่น Docs, Slide, Sheet, Classroom, Forms, Calendar, Mail, Site เพื่อเป็นช่องทางในการส่งผ่านเนื้อหาความรู้ สำหรับการอภิปราย ในระหว่างการทำโครงงาน เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความสะดวก และง่ายในการเข้าถึงชิ้นงาน ต้องสามารถรองรับการทำงานได้ทั้งผู้สอน และผู้เรียน เพื่อให้สามารถพิมพ์ข้อความต่าง ๆ ลงในฟอรั่ม (Forum) ของเครื่องมือของกูเกิ้ล เพื่อการศึกษา เพื่ออำนวยความสะดวกในการอภิปราย และการมีปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มของผู้เรียน ถือได้ว่าการพบปะพูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ผู้สอนจะต้องออกแบบกิจกรรมที่ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาความสามารถในการคิดของผู้เรียน เพื่อการส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพ ในด้านของทักษะการสื่อสาร และความสามารถในการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เช่น กระดานข้อความและห้องสนทนาในการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนในห้องจากที่บ้าน

3. เวลา (Time) ในการให้ความช่วยเหลือ (Scaffolding) ผู้สอนทำการนัดหมายเวลาร่วมกันในการจัดกิจกรรมของผู้สอนกับผู้เรียน (Teacher – Learner) โดยผู้สอนต้องกำหนดเวลา และเลือกช่วงเวลาที่ผู้สอนและผู้เรียน สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้โดยสะดวก ผ่านสมาร์ทโฟน เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ตต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือ (Scaffolding) ผู้เรียน โดยใช้กูเกิ้ลเพื่อการศึกษา (Google apps For Education) เพื่อเป็นช่องทางการส่งผ่านสื่อ (Logistics Media) หลักในการทำกิจกรรมระหว่าง ผู้สอนและผู้เรียน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มเครื่องมือ ดังนี้

3.1 แอพพลิเคชันลักษณะการเชื่อมโยงหากัน (Connect) ด้วย แฮงเอาท์ (Hangouts) กูเกิลพลัส (Plus) ปฏิทิน (Google Calendar) กูเกิลเมล์ (Gmail)

3.2 แอพพลิเคชันลักษณะการสร้างงาน (Create) ด้วยกูเกิลเอกสาร (Docs) ไซด์ (Sites) ชีต (Sheets) สไลด์ (Slide) ฟอร์ม (Forms) วาดเขียน ไดอะแกรมและผังการทำงาน (Drawings)

3.3 แอพพลิเคชันลักษณะการบริหารจัดการ (Access) ไดร์ฟ (Drive) ห้องเรียน (Google Classroom)

3.4 แอพพลิเคชันลักษณะการควบคุม (Control) ด้วยผู้ดูแลระบบ (Admin) ที่ลงชื่อเข้าใช้คอนโซลผู้ดูแลระบบ (Mobile Management) ด้วยการลงชื่อเข้าใช้บริการทั้งหมดในครั้งเดียว

ถ้ามีความสนใจในรายละเอียดสามารถสอบถามมาได้นะครับ และหากนำไปอ้างอิงทางวิชาการโปรดอ้างอิงตามนี้ครับ

อนุศร หงษ์ขุนทด. (2561). รูปแบบการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ตามแนวคิดทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยโครงงาน เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มสาระการงานอาชีพ และเทคโนโลยี, โรงเรียนด่านขุนทด.

ดร.อนุศร หงษ์ขุนทด

musicmankob@gmail.com

ID Line: musicmankob

Comments

comments

Powered by Facebook Comments

ติดต่อ ดร.อนุศร หงษ์ขุนทด
error: Content is protected !!