fbpx
Digital Learning Classroom
ข่าวการศึกษาหลักสูตรฐานสมรรถนะ

กรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

แชร์เรื่องนี้

กรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ที่มา: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2564) กรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หน้า 7. กรุงเทพฯ : สกศ

กรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบไปด้วย 10 สมรรถนะ ได้แก่

  1. ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร
  2. คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน
  3. กระบวนการสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์
  4. ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
  5. ทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน
  6. ทักษะอาชีพและการเป็น ผู้ประกอบการ
  7. ทักษะการคิดขั้นสูงและนวัตกรรม
  8. การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล
  9. การทำงานแบบรวมพลังเป็นทีมและมีภาวะผู้นำ
  10. การเป็น พลเมืองตื่นรู้ที่มีจิตสำนึกสากล

จากการพัฒนากรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 10 สมรรถนะ โดยได้จัดกลุ่มบูรณาการสมรรถนะหลักของผู้เรียน 10 สมรรถนะ ไว้ในสมรรถนะหลักระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Core Competencies of Learners at Basic Education) ที่ประกอบด้วยสมรรถนะหลักสำคัญ 7 สมรรถนะ ได้แก่

  1. สมรรถนะหลักด้านทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน (Life Skills and Personal Growth)
  2. สมรรถนะหลักด้านทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ (Career Skills and Entrepreneurship)
  3. สมรรถนะหลักด้านการคิดขั้นสูงและการพัฒนานวัตกรรม (Higher – Order Thinking Skills and Innovation Development)
  4. สมรรถนะหลักด้านการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy)
  5. สมรรถนะหลักด้านการสื่อสาร (Communication)
  6. สมรรถนะหลักด้านการทำงานแบบรวมพลังเป็นทีมและมีภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership)
  7. สมรรถนะหลักด้านการเป็นพลเมืองตื่นรู้ที่มีสำนึกสากล (Active Citizenship with Global Mindedness)

โดยสมรรถนะหลักระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 7 สมรรถนะดังกล่าวนี้ มีพื้นฐานจากความฉลาดรู้พื้นฐาน (Basic Literacy) ค่านิยมร่วมและคุณธรรม เพื่อการเป็นพลเมืองไทยในฐานะพลเมืองโลกที่มีคุณภาพในโลกอนาคต 

 

สมรรถนะในความฉลาดรู้พื้นฐาน (Competencies in Basic Literacy)

ถือเป็นสมรรถนะหลักที่สำคัญจำเป็นและเป็นสมรรถนะพื้นฐานที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ (Learning Tools) สมรรถนะเหล่านี้เป็นสมรรถนะสำคัญซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความฉลาดรู้ในด้านนั้น ๆ หรือเรียกได้ว่าเป็นความฉลาดรู้ (Literacy) ที่ต้องพัฒนาแก่ผู้เรียนให้ถึงระดับที่เรียกได้ว่าเป็น “สมรรถนะ” โดยสมรรถนะในความฉลาดรู้พื้นฐาน ประกอบด้วย 4 สมรรถนะ ได้แก่

  1. สมรรถนะหลักด้านภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร
  2. สมรรถนะหลักด้านภาษาอังกฤษ/ภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสาร
  3. สมรรถนะหลักด้านคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน
  4. สมรรถนะหลักด้านการสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์

ในส่วนของค่านิยมร่วมและคุณธรรม ยึดตามที่ระบุอยู่ในมาตรฐาน การศึกษาของชาติ พ.ศ. 2561 ซึ่งถือเป็นแก่นและรากฐานสำคัญในการแสดงออกซึ่งสมรรถนะต่าง ๆ 

 

 “สมรรถนะหลัก”

มี 2 ลักษณะ ได้1แก่

1. สมรรถนะหลัก (Core Competency/ Generic Competency) หรือสมรรถนะทั่วไป สมรรถนะแกน สมรรถะกลาง มีลักษณะเป็นสมรรถนะข้ามวิชาหรือคร่อมวิชา คือเป็นสมรรถนะที่สามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนได้ในสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่หลากหลาย หรือนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผู้เรียนให้เรียนรู้สาระต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ลึกซึ้งขึ้น สมรรถนะในลักษณะนี้ กล่าวได้ว่าเป็นสมรรถนะที่มีลักษณะ “Content – free” คือ ไม่เกาะติดเนื้อหา หรือไม่ขึ้นกับเนื้อหา
2. สมรรถนะเฉพาะ (Specific Competency) เป็นสมรรถนะเฉพาะวิชา/ สาขาวิชา ซึ่งจำเป็นสำหรับวิชานั้น ๆ อาทิ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยมีสมรรถนะเฉพาะของวิชา เช่น สมรรถนะด้านการประพันธ์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะมีสมรรถนะด้านการวาดภาพ การปั่น กล่าวคือ สาระวิชาต่าง ๆ จะมีสมรรถนะเฉพาะวิชาของตน

สมรรถนะหลักสำคัญ 7 สมรรถนะ และสมรรถนะในความฉลาดรู้พื้นฐาน 4 สมรรถนะ
ในกรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานนี้
มีลักษณะเป็นสมรรถนะหลัก (Core/ Generic Competency) หรือสมรรถนะทั่วไป

สมรรถนะหลัก (Core Competency/ Generic Competency) หรือสมรรถนะทั่วไป

คำว่า สมรรถนะ “หลัก” ของผู้เรียน ในที่นี้ จึงสื่อความหมาย 2 ประการ คือ

1) สมรรถนะหลัก ที่หมายถึง สมรรถนะทั่วไป หรือสมรรถนะแกน (Generic Competency/ Core Competency) ตามลักษณะหรือประเภทของสมรรถนะมีลักษณะเป็นสมรรถนะข้ามวิชาหรือคร่อมวิชา และมีลักษณะ “Content – free” ครูจึงสามารถนำไปใช้ในออกแบบการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระ/ รายวิชา/ กิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย

2) สมรรถนะหลัก ที่หมายถึง สมรรถนะที่มีความสำคัญจำเป็นสำรับการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยในช่วงเวลา 12 ปีของการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อพัฒนาเด็กไทยให้มีคุณลักษณะของคนไทยที่มีคุณภาพ ซึ่งสมรรถนะหลักต่าง ๆ เหล่านี้ได้ผ่านการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิและผ่านกระบวนการวิจัยที่หลากหลายทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อยืนยันว่าสมรรถนะเหล่านี้เป็นสมรรถนะที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพของเด็กและเยาวชนไทยอย่างแท้จริง

 

ทั้งนี้ กรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียนมิใช่หลักสูตร แต่เป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

การนำกรอบสมรถนะหลักไปใช้ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์เชื่อมโยงกับหลักสูตรที่ใช้อยู่ในขณะนั้น

สมรรถนะที่ 1 ในความฉลาดรู้พื้นฐาน (Competencies in Basic Literacy) 

สมรรถนะหลักด้านภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร (Thai Language for Communication) 

สมรรถนะหลักด้านภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร (Thai Language for Communication) หมายถึง ความสามารถในการสื่อสารโดยใช้ภาษาไทยเป็นเครื่องมือ ในการรับ แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดสาร ผ่านช่องทางหลากหลายอย่างถูกต้อง เหมาะสม มีวิจารญาณ มีเจตนาที่ดี อยู่บนพื้นฐานของค่านิยมและคุณธรรม เพื่อแจ้งข้อมูล รับทราบข้อมูล ให้ความรู้ เรียนรู้ สร้างความเพลิดเพลิน ชักจูง/โน้มน้าว/จูงใจ ตัดสินใจหรือกระทำการใด ๆ อันนำไปสู่การสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ชีวิตที่มีคุณภาพ ก่อประโยชน์ให้แก่ตนเองและสังคม จรรโลงสังคมให้ดีขึ้น รวมถึงการสืบสาน ถ่ายทอดและต่อยอดสิ่งที่ดีงามของภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย โดยใช้การฟัง ดู พูด อ่านและเขียน 

  1. การรับสาร
  2. การส่ง/ถ่ายทอดสาร
  3. การแลกเปลี่ยน/สนทนา
  4. การสืบสาน

มรรถนะที่ 2 ในความฉลาดรู้พื้นฐาน (Competencies in Basic Literacy) 

สมรรถนะหลักด้านภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (English for Communication) 

สมรรถนะหลักด้านภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (English for Communication) หมายถึง ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร แลกเปลี่ยนและถ่ายทอดข้อเท็จจริง อารมณ์ ความรู้สึก ความคิดเห็น และความต้องการ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดี และสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ในโลกได้อย่างเสรี มีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์ เหมาะสมกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย 

ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล (International Language) สำหรับการสื่อสารกับผู้คนร่วมวัฒนธรรมและต่างวัฒนธรรม เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล และสื่อต่าง ๆ อย่างเสรี การมีสมรรถนะภาษาอังกฤษในระดับที่สื่อสารได้ดีช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียนในฐานะพลเมืองของประเทศไทยและโลก ดังนั้นผู้เรียน ชาวไทยจึงจำเป็นต้องมีสมรรถนะด้านภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 3 สมรรถนะ ดังนี้

  1. สมรรถนะการรับส่งสาร 
  2. สมรรถนะการเรียนรู้ภาษา 

  3. สมรรถนะการสร้างความบันเทิงและสุนทรียภาพ

สมรรถนะที่ 3 ในความฉลาดรู้พื้นฐาน (Competencies in Basic Literacy) 

สมรรถนะหลักด้านคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน (Mathematics in Everyday Life) 

สมรรถนะหลักด้านคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน (Mathematics in Everyday Life) หมายถึง ความสามารถในนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ไปเชื่อมโยงกับปัญหา สถานการณ์ในชีวิตประจำวันที่ผู้เรียนพบ ทำให้ผู้เรียนมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างคณิตศาสตร์กับโลกที่เป็นจริง เป็นการประยุกต์เพื่อนำไปใช้ในชีวิต ประจำวัน หรือใช้ในการทำงานที่เหมาะสมตามวัย เป็นการบูรณาการสาระของคณิตศาสตร์กับอีกหลาย ๆ สาขาวิชาเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย 

  1. สมรรถนะการแก้ปัญหา 

  2. สมรรถนะการให้เหตุผล 

  3. สมรรถนะการสื่อสาร 

  4. สมรรถนะการเชื่อมโยง 

  5. สมรรถนะการคิดสร้างสรรค์

สมรรถนะที่ 4 ในความฉลาดรู้พื้นฐาน (Competencies in Basic Literacy) 

สมรรถนะหลักด้านการสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ (Scientific Inquiry and Scientific Mind) 

สมรรถนะหลักด้านการสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ (Scientific Inquiry and Scientific Mind) หมายถึง ความสามารถในการสืบเสาะ หาความรู้โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ อธิบายปรากฏการณ์รอบตัวโดยใช้เครื่องมือหรือวิธีการที่เหมาะสม เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์อย่างเป็นเหตุเป็นผล แสดงข้อคิดเห็นในการโต้แย้งโดยใช้หลักฐานและเหตุผลประกอบอย่างสมเหตุสมผล และเป็นผู้มีคุณลักษณะหรือลักษณะนิสัยของบุคคลที่เกิดจากการศึกษา หาความรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ 

  1. การแก้ปัญหา
  2. การให้เหตุผล
  3. การสื่อสาร
  4. การเชื่อมโยง
  5. การคิดสร้างสรรค์

สมรรถนะในความฉลาดรู้พื้นฐานนี้มีความสัมพันธ์ สอดคล้อง เชื่อมโยงกับสมรรถนะหลักสำคัญทั้ง 7 สมรรถนะในลักษณะของการสนับสนุนซึ่งกันและกัน และเลื่อนไหล (flow) หากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของสมรรถนะหลักด้านการคิดขั้นสูงและการพัฒนานวัตกรรม และสมรรถนะหลักด้านการสื่อสาร

สมรรถนะหลักที่สำคัญของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

มีลักษณะเป็นสมรรถนะทั่วไป (generic competency) หรือสมรรถนะแกน (core competency) ซึ่งเป็นสมรรถนะข้ามวิชาหรือคร่อมวิชา คือเป็นสมรรถนะที่สามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนได้ในสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ หลากหลาย หรือนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผู้เรียนให้เรียนรู้สาระต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ลึกซึ้งขึ้น สมรรถนะในลักษณะนี้ เป็นสมรรถนะที่มีลักษณะ “Content – free” คือ ไม่เกาะติดเนื้อหา หรือไม่ขึ้นกับเนื้อหา เพียงแต่สมรรถนะบางสมรรถนะ อาจพัฒนาได้ดีกว่ากับเนื้อหาบางเนื้อหา ซึ่งแตกต่างไปจากสมรรถนะเฉพาะ (specific competency) ที่เป็นสมรรถนะเฉพาะวิชา/สาขาวิชา ซึ่งจำเป็นสำหรับวิชานั้น ๆ ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย จะมีสมรรถนะเฉพาะของวิชา เช่น สมรรถนะด้านหลักภาษา สมรรถนะด้านการประพันธ์ หรือในกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ จะมีสมรรถนะเฉพาะของวิชา เช่น สมรรถนะด้านการวาดภาพ การปั้น การประดิษฐ์ เป็นต้น ดังนั้น สมรรถนะหลักที่สำคัญของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ระบุไว้ในที่นี้ ครูผู้สอนทุกรายวิชาทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้จึงสามารถช่วยกันพัฒนาสมรรถนะหลักเหล่านี้ให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนได้ 

สมรรถนะหลักที่สำคัญของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย 

(1) สมรรถนะหลักด้านทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน (Life Skills and Personal Growth) 

(2) สมรรถนะหลักด้านทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ (Career Skills and Entrepreneurship) 

(3) สมรรถนะหลักด้านการคิดขั้นสูงและการพัฒนานวัตกรรม (Higher – Order Thinking Skills and Innovation Development) 

(4) สมรรถนะหลักด้านการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy) 

(5) สมรรถนะหลักด้านการสื่อสาร (Communication) 

(6) สมรรถนะหลักด้านการทำงานแบบรวมพลังเป็นทีม และมีภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) 

(7) สมรรถนะหลักด้านการเป็นพลเมืองตื่นรู้ที่มีสำนึกสากล (Active Citizenship with Global Mindedness) 

สมรรถนะหลักด้านทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน (Life Skills and Personal Growth)

หมายถึง ความสามารถที่จำเป็นในการใช้ชีวิตอย่างมี ประสิทธิภาพและมีความสุข โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้สร้างความสมดุลและพอดีในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน มีการตระหนักรู้ตนเอง เข้าใจ อารมณ์ความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น รู้จุดเด่นและจุดควรพัฒนาของตนและนำมาใช้ในการกำหนดเป้าหมายของชีวิต มีทักษะการเรียนรู้และการกำกับตนเอง มีสติสัมปชัญญะ มีคุณธรรม น้อมนำหลักศาสนาที่ตนนับถือมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการดำรงชีวิต กิน อยู่ ดู ฟัง เป็น สามารถป้องกันตนเองและหลีกเลี่ยงจากภัยต่าง ๆ บริหารจัดการตนเองและดำเนินชีวิตสู่เป้าหมาย ปรับตัวและฟื้นคืนสภาพอย่างรวดเร็วเมื่อเผชิญกับปัญหาและความเปลี่ยนแปลง สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดี พร้อมเกื้อกูล ช่วยเหลือเพื่อน ครอบครัว และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อความสุขในการอยู่ร่วมกัน ปฏิบัติหน้าที่ต่อสังคมได้เหมาะสมกับบทบาทและหน้าที่ มีการพัฒนาตนเองให้มี ชีวิตอย่างสมดุลทุกด้าน ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา และสุนทรียะ มีความพึงพอใจ ในการใช้ชีวิต นับถือตนเอง พึ่งพาตนเอง และพัฒนาตนเอง ให้มีสุขภาวะที่ดี มีสุนทรียภาพ ชื่นชม ความงามของธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม เห็นความสำคัญ มีส่วนร่วมในการรักษา สืบทอด ส่งต่อ ทะนุบำรุงรักษาวัฒนธรรมให้ดำรงสืบทอดต่อไปได้

สมรรถนะที่ 1 การรู้จักตนเองและเข้าใจผู้อื่น  (Self and Mutual Understanding)

สมรรถนะที่ 2 การดูแลตัวเอง และความปลอดภัย (Health and Safety)

สมรรถนะที่ 3  ความสามารถทางอารมณ์ และสังคม (Interpersonal Relationship & Social – Emotional Competence)

สมรรถนะที่ 4 จริยธรรม (Moral Character)

สมรรถนะที่ 5 สุนทรียะ (Esthetic)

สมรรถนะที่ 6 ทักษะการเรียนรู้ และการกำกับตนเอง (Learning Skill & Self – Directed Learner)

 

สมรรถนะหลักด้านทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ (Career Skills and Entrepreneurship)

หมายถึง ความสามารถของบุคคลที่มุ่งเน้นการสร้างความพร้อมสำหรับการทำงาน การประกอบอาชีพ และเป็นผู้ประกอบการที่เกื้อกูลสังคม โดยบุคคลต้องรู้จักความถนัด และความสนใจของตนเอง และนำไปสู่ การเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง การพัฒนาทักษะในการทำงาน การทำงานด้วยการพึ่งพาตนเอง ยึดหลักการบริหารจัดการ และการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียงในการปฏิบัติงานด้านการเงิน เป็นการประกอบการที่เน้นนวัตกรรม การสร้างผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพสูง มีจรรยาบรรณพร้อมรับผิดชอบสังคม

สมรรถนะที่ 1 การรู้จักและค้นพบตนเอง

สมรรถนะที่ 2 การจัดการต่อความเปลี่ยนแปลง

สมรรถนะที่ 3 การมุ่งเน้นผลลัพธ์

สมรรถนะที่ 4 การตลาด

สมรรถนะที่ 5 การจัดการทรัพยากร

สมรรถนะที่ 6 การเงินและบัญชี

สมรรถนะหลักด้านการคิดขั้นสูงและการพัฒนานวัตกรรม  (Higher – Order Thinking Skills and Innovation Development) HOTS: Critical Thinking, Problem solving, Creative Thinking 

ทักษะการคิด คือความสามารถในการดำเนินการคิด เพื่อให้ได้คำตอบหรือผลลัพธ์ที่ต้องการ เมื่อบุคคลได้รับสิ่งเร้าหรือข้อมูลต่าง ๆ เข้ามา สมองจะมี กระบวนการในการจัดกระทำต่อสิ่งเร้านั้นในลักษณะต่าง ๆ กัน เกิดเป็นกระบวนการคิดที่หลากหลาย ซึ่งจัดจำแนกได้เป็นกลุ่มสำคัญ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ทักษะการคิดพื้นฐาน (basic thinking skills) คือ ทักษะการคิดที่โดยมากใช้ในการสื่อความหมายหรือการติดต่อสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน เช่น ทักษะการรับรู้ ทักษะการฟัง อ่าน พูด เขียน ทักษะการจำ การเก็บความรู้ การนำความรู้มาใช้ การอธิบาย 2) ทักษะการคิดที่เป็นแกนสำคัญ (core thinking skills) คือ ทักษะที่เป็นหลัก ใช้เป็นฐานในการคิดทั่ว ๆ ไป มีลักษณะไม่ซับซ้อนมาก เช่น ทักษะการสังเกต การเปรียบเทียบ การจัดกลุ่ม จัดประเภท การแปลความ ขยายความ การเชื่อมโยง การสรุป 3) ทักษะการคิดขั้นสูง (higher order thinking skills) คือ ทักษะการคิดที่มีความซับซ้อนมากขึ้น มักประกอบด้วยกระบวนการหรือขั้นตอนที่ซับซ้อน ต้องอาศัยทักษะ การสื่อสารและทักษะการคิดที่เป็นแกนหลากหลาย ทักษะในแต่ละขั้น เช่น ทักษะการนิยาม การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การหาแบบแผน การจัดระบบ โครงสร้าง การสร้าง การคิดอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อให้ได้คำตอบหรือบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เช่น การตัดสินใจ การแก้ปัญหาต่าง ๆ 

สมรรถนะหลักด้านการคิดขั้นสูงและการพัฒนานวัตกรรม (Higher Order Thinking Skills and Innovation Development: HOTS) หมายถึง การคิดที่มีความซับซ้อนประกอบด้วยกระบวนการหรือขั้นตอนของการคิดหลายขั้นตอน ในแต่ละขั้นตอนต้องอาศัยทักษะการสื่อสารและทักษะ การคิดที่เป็นแกนหลาย ทักษะ เพื่อให้ได้คำตอบหรือบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เช่น การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ในที่นี้ กำหนดเป็นสมรรถนะ 5 ด้าน ได้แก่  การสืบสอบ เป็นกระบวนการคิดที่มุ่งการสืบเสาะหาความรู้จากสิ่งที่ตนเองสงสัยใคร่รู้ โดยการตั้งคำถาม สำรวจ ตรวจสอบ และลงข้อสรุป เพื่อให้ได้คำตอบในเรื่องที่อยากรู้จากปรากฏการณ์รอบตัว

การคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นกระบวนการคิดที่มุ่งไปที่การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เหตุผล และหลักฐานของเรื่องที่พิจารณาว่ามี ความน่าเชื่อถือเพียงใด มีประเด็นอะไรที่เป็นจุดอ่อน สามารถโต้แย้งได้โดยมีหลักฐานสนับสนุน ซึ่งผลการวิพากษ์และประเมินข้อมูลนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญที่นำไปพิจารณาร่วมกับข้อมูลด้านอื่น ๆ เช่นความเหมาะสมตามหลักกฎหมาย ศีลธรรม คุณธรรม ค่านิยม ความเชื่อและบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรม อันจะนำไปสู่การตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณ 

การคิดแก้ปัญหา เป็นกระบวนการคิดที่มุ่งไปที่ความเข้าใจเหตุและผลของปัญหา การแก้ปัญหาให้ได้ผลจะต้องหาต้นเหตุของปัญหานั้น และขจัดที่เหตุซึ่งต้องอาศัยวิธีการที่เหมาะสม เมื่อได้วิธีการที่น่าจะดีที่สุดแล้ว ก็ต้องวางแผนดำเนินการแก้ไขปัญหานั้นอย่างเป็นลำดับขั้นตอน และลงมือทำตามแผนนั้น เก็บและวิเคราะห์ข้อมูล สรุปผล ปรับปรุง จนบรรลุผลตามเป้าหมายที่ต้องการ 

การคิดสร้างสรรค์ เป็นกระบวนการคิดที่มุ่งนำเสนอความหลากหลาย ริเริ่ม การประเมินปรับปรุงและพัฒนาต่อยอดความคิด เพื่อการแก้ปัญหาหรือสร้างทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ การสร้างความก้าวหน้าในความรู้ หรือการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ โดยอาศัยจินตนาการและทักษะพื้นฐานด้านการคิดริเริ่ม คิดคล่อง คิดยืดหยุ่น คิดละเอียดลออ คิดหลากหลาย คิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อให้ได้สิ่งใหม่ที่ดีกว่า แตกต่างไปจากเดิม มีประโยชน์ และมีคุณค่าต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคมมากกว่าเดิม ซึ่งสิ่งใหม่ในที่นี้อาจเป็นการปรับหรือประยุกต์สิ่งเดิมให้อยู่ในรูปแบบใหม่ หรือเป็นการต่อยอดจากสิ่งเดิม หรือเป็นการริเริ่มสิ่งใหม่ขึ้นมาทั้งหมด 

สำหรับการพัฒนานวัตกรรมนั้นเป็นสมรรถนะในการออกแบบและดำเนินงานตามกระบวนการพัฒนานวัตกรรมตั้งแต่การวางแผน การระบุปัญหา การกำหนดวัตถุประสงค์ การศึกษาข้อมูล การร่าง การประดิษฐ์ การใช้ การประเมิน การปรับปรุง และการเผยแพร่ จนได้นวัตกรรม ซึ่งในความหมายสำหรับผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายถึง สิ่งประดิษฐ์ แนวคิด วิธีการ หรือกระบวนการใหม่ที่ได้พัฒนาขึ้นตามแนวคิดหรือหลักการต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นหรือสภาพปัญหาในบริบทหนึ่ง ๆ ผ่านกระบวนการพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นระบบ จนได้ผลงานที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ สามารถนำไปใช้แก้ปัญหา พัฒนางาน หรือนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ซึ่งผลงานดังกล่าวได้รับการยอมรับและนำไปใช้ในบริบทใดบริบทหนึ่ง โดยยังไม่ได้ใช้อย่างเป็นปกติในบริบทนั้น ๆ 

สมรรถนะการพัฒนานวัตกรรมนี้มีพื้นฐานมาจากการสืบสอบ การคิดวิจารณญาณ การคิดแก้ปัญหา และการคิดสร้างสรรค์ ด้วยเหตุนี้เอง ความสามารถหรือทักษะพื้นฐานที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานวัตกรรมจึงปรากฏอยู่ทั้งในส่วนของการคิดวิจารณญาณ การคิดแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์ ทั้งนี้ ความคิดสร้างสรรค์ในที่นี้จะมีความแตกต่างไปจากการพัฒนานวัตกรรม ตรงที่ความคิดสร้างสรรค์จะมุ่งเน้นที่ความสามารถในการคิด ในขณะที่การพัฒนานวัตกรรมจะมุ่งเน้นที่ความสามารถในการดำเนินงานตามกระบวนการพัฒนานวัตกรรมโดยสามารถนำเสนอหรือสร้างผลผลิตทางความคิดที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมและได้รับการยอมรับว่าเป็นนวัตกรรมได้

สมรรถนะหลักด้านการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy)

คือ ความสามารถในการเข้าถึง เข้าใจ สร้าง และใช้สื่อสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการเรียนรู้และใช้เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างรู้เท่าทันตนเอง รู้เท่าทันสื่อ และรู้เท่าทันสังคม โดยเฉพาะ สื่อ ซึ่งมีการพัฒนาอย่างซับซ้อน กลายเป็นสื่อหลอมรวม (Convergence) สามารถจำแนกสมรรถนะ ของผู้เรียน ตามช่องทางและลักษณะ ของสื่อได้ 3 ประการคือ

1) การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) คือ ความสามารถในการอ่านสื่อให้ออก มีทักษะ ในการเข้าถึงสื่อ วิเคราะห์สื่อ ตีความเนื้อหาของสื่อ ประเมินคุณค่าและเข้าใจผลกระทบของสื่อ และสามารถใช้สื่อให้เกิดประโยชน์ได้

2) การรู้เท่าทันสารสนเทศ (Information Literacy) คือ ความสามารถในการประเมิน เลือกใช้ และสื่อสาร ข้อมูลในหลากหลายรูปแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง และเรียนรู้ตลอดชีวิต  

3) การรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) คือ ความสามารถ ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เครื่องมือสื่อสาร สื่อออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อค้นหาข้อมูล ประมวลผล และสร้างสรรค์ข้อมูลได้ หลากหลายรูปแบบ

สมรรถนะหลักด้านการสื่อสาร (Communicative competency)

หมายถึง ความสามารถในการรับสาร การส่งสาร และ การแลกเปลี่ยน/ถ่ายทอดข้อมูล สารสนเทศ ประสบการณ์ ความรู้ ความคิด ได้ถูกต้องตามโครงสร้างและกฎเกณฑ์ทางภาษาด้วยวัจนภาษา รวมถึงการใช้ อวัจนภาษาในการสื่อสาร ผ่านสาร/ข้อความ/ ภาพ/สัญลักษณ์ และสามารถเลือกเนื้อหาและกลวิธีในการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ ได้เหมาะสมตามระดับ การสื่อสาร บริบท สังคม วัฒนธรรม บนฐานคุณธรรม จริยธรรม เข้าใจความต้องการในการสื่อสารของตนเอง และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น สื่อสารได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ สอดคล้องกับกาลเทศะ เกิดความราบรื่น สื่อสาร อย่างมีวิจารณญาณและสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตนเองในด้านสติปัญญา อารมณ์ จิตใจ และก่อประโยชน์แก่สังคม รวมถึงเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดี กับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  1. การรับสาร 
  2. การส่งสาร 
  3. การแลกเปลี่ยน/สนทนา

สมรรถนะหลักด้านการทำงานแบบรวมพลังเป็นทีม และมีภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership)

หมายถึง ความสามารถในการร่วมกันทำงานตามบทบาทเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดร่วมกัน อีกทั้งส่งเสริม บ่มเพาะความสัมพันธ์ทางบวก โดยผู้เกี่ยวข้องตระหนักในการสนับสนุน แบ่งปัน แลกเปลี่ยนความรู้ และความคิด พร้อมสนับสนุนเกื้อกูลกันทุกด้าน นอกจากนี้ต้อง ใส่ใจในการประสานความคิด ประนีประนอม เสนอทางเลือกและแนวปฏิบัติที่ทุกฝ่ายยอมรับ สร้าง และรักษาความสัมพันธ์ทางบวกกับสมาชิก 

ภาวะผู้นำ เป็นคุณลักษณะของบุคคลที่สามารถแก้ปัญหาและใช้มนุษยสัมพันธ์ที่ดีเพื่อชี้แนะแนวทางให้ไปสู่เป้าหมายและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้พัฒนา ตนเองและนำจุดเด่นของแต่ละคนมาใช้ปฏิบัติงานในฐานะสมาชิกกลุ่มที่ดี เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จร่วมกัน

  1. ภาวะผู้นำและการพัฒนาตนเอง
  2. การสื่อสารที่มีประสิทธิผล
  3. กระบวนการทำงาน ร่วมกันแบบร่วมมือรวมพลัง
  4. การแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ความสัมพันธ์
  5. การสร้างและรักษา

สมรรถนะหลักด้านพลเมืองตื่นรู้ที่มีสำนึกสากล (Active Citizens with Global Mindedness)

หมายถึง การเป็นพลเมืองที่ตระหนักในศักยภาพของตนเอง ศรัทธา และเชื่อเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย มีความรู้ ความสามารถเชิงการเมืองที่เอื้อให้สามารถอยู่ร่วมกันและ ปกครองกันเอง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตระหนักในบทบาทและหน้าที่ สิทธิและเสรีภาพ ความเท่าเทียมและเป็นธรรม มีความเป็นเหตุเป็นผล มีสำนึกการเป็นเจ้าของประเทศ ร่วมกันปรึกษาหารือเพื่อแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหา/ความขัดแย้งด้วยสันติวิธี หรือพัฒนาสร้างสรรค์สังคม โดยรวมร่วมกันในระดับต่าง ๆ ได้แก่ ชุมชน ท้องถิ่น ประเทศชาติ อาเซียนและโลก เห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงที่ส่งผลถึงกันและกันทั้งหมด

  1. การเป็นพลเมืองรู้เคารพสิทธิ
  2. การเป็นพลเมืองรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่
  3. พลเมืองที่มีวิจารณญาณ
  4. การเป็นพลเมืองมีส่วนร่วม
  5. การเป็นพลเมืองผู้สร้าง การเปลี่ยนแปลง

ที่มา: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2564) กรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน . กรุงเทพฯ : สกศ

Comments

comments

Powered by Facebook Comments

ติดต่อ ดร.อนุศร หงษ์ขุนทด
error: Content is protected !!