Site icon Digital Learning Classroom

ตัวอย่างการนิเทศภายในด้วยรูปแบบการนิเทศภายในแบบ MIND Model

แชร์เรื่องนี้

ตัวอย่างการนิเทศภายในด้วยรูปแบบการนิเทศภายในแบบ MIND Model

การนิเทศภายในแบบ MIND Model  โรงเรียนอนุบาลวัดอู่ตะเภา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 1

1. ข้อมูลพื้นฐาน

โรงเรียนอนุบาลวัดอู่ตะเภา ตั้งอยู่ หมู่ที่ 6 ตำบลหนองไม้แดง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 1 เปิดสอนชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบัน 
มีนักเรียน 1,240 คน มีข้าราชการครู 48 คน ครูอัตราจ้าง 15 คน อัตราจ้างสนับสนุนการสอน 2 คน

2. เป้าหมายการนิเทศภายใน

โรงเรียนอนุบาลวัดอู่ตะเภา มีเป้าหมายการดำเนินการนิเทศภายใน เพื่อพัฒนาครู สู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ดังนี้

   2.1 พัฒนาครูให้มีความสามารถในการวิเคราะห์หลักสูตร และปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับมาตรฐาน ตัวชี้วัดชั้นปีของหลักสูตร และจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียน “พูดเก่ง อ่านเก่ง คิดเก่ง ปฏิบัติได้”

   2.2 พัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ O-NET และ NT และสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ และสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

   2.3 พัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถตามจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน “พูดเก่ง อ่านเก่ง คิดเก่งปฏิบัติได้”

3. รูปแบบการนิเทศภายใน

โรงเรียนอนุบาลวัดอู่ตะเภา ใช้การนิเทศภายในเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้การนิเทศภายใน แบบ MIND Model (ทำงานด้วยใจ) ประกอบด้วยรายละเอียด ดังนี้

M: Management by Objectives คือ การบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์

I: Information and Communication Technology คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร

N: Network คือ การสร้างเครือข่าย

D: Do and Development คือ การปฏิบัติและพัฒนา

รูปแบบการนิเทศภายในแบบ MIND Model
ที่มา: หน่วยศึกษานิเทศก์ (2562: 35)

Management by Objectives การบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาครูสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยจัดระบบโครงสร้างการบริหารให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบงานนิเทศ จัดวางตัวบุคลากร และคณะกรรมการรับผิดชอบ จัดทำแผนการนิเทศภายใน จัดการงบประมาณและวัสดุ อุปกรณ์ สำหรับการนิเทศภายใน

Information and Communication Technology ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการรวบรวม จัดระบบข้อมูลสารสนเทศ ทั้งเอกสาร ไฟลLประมวลผล (excel หรือ Google sheet) รูปภาพ คลิปวีดีโอ ไฟล์นำเสนอ ในระบบจัดเก็บที่ Google Drive เชื่อมโยงกับสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook หรือ กูเกิ้ลฟลัส G+ สำหรับการจัดการกลุ่มชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมพัฒนา และนำเสนอผ่านเว็บไซต์นิเทศภายในของโรงเรียน

Network สร้างเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ภายในโรงเรียนประกอบด้วย ทีมนิเทศของครู
ในสายชั้น ครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้ ครูในกลุ่มชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) สำหรับเครือข่ายภายนอกประกอบด้วย การประสานความร่วมมือกับสหวิทยาเขต เขตพื้นที่การศึกษา สถาบันการศึกษา หน่วยงาน องค์กรในชุมน และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการนิเทศ

Do and Development การปฏิบัติและพัฒนาการนิเทศภายใน โรงเรียนอนุบาลวัดอู่ตะเภา ปฏิบัติการโดยการบูรณาการหลักสูตร กิจกรรมการเรียนรู้ กิจกรรมเสริมหลักสูตร การประกันคุณภาพการศึกษา การวางแผนพัฒนาการจัดการศึกษา และการนิเทศภายใน ให้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ปฏิบัติควบคู่กับการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาอย่างจริงจัง และนำผลมาพัฒนาต่อเนื่อง โดยมีวิธีการนิเทศสู่ห้องเรียน ที่สำคัญ ดังนี้

1) เยี่ยมชั้นเรียนและสังเกตการสอน

2) ชี้แนะและสอนงานเชิงปฏิบัติการ

3) ประชุมนิเทศ ติดตาม และทบทวนการปฏิบัติงาน

4) นิเทศบูรณาการสร้างสรรคLกับกลุ่มชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC)

5) นิเทศออนไลน์โดยใช้ข้อมูลเป็นฐาน

การดำเนินการนิเทศภายใน โรงเรียนอนุบาลวัดอู่ตะเภา ได้ประยุกต์ใช้วิธีการนิเทศแบบปกติ มาบูรณาการกับแนวคิดการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ด้วยวิธีการ “นิเทศออนไลน์ โดยใช้ข้อมูลเป็นฐาน” ตามแนวดำเนินการระดับสถานศึกษา และระดับครูผู้สอนและผู้นิเทศ ดังนี้

ระดับสถานศึกษา

ดำเนินการมอบหมายคณะทำงาน จัดการระบบข้อมูลสารสนเทศ และการบริหารจัดการนิเทศออนไลน์ โดยใช้ข้อมูลเป็นฐาน ดังนี้

1. การจัดการข้อมูลสารสนเทศของปีการศึกษาที่ผ่านมา โดยนำข้อมูลสารสนเทศที่สำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา มาจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบใน Google Drive และแชร์ข้อมูลให้ครูทุกคนเข้าใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา ได้แก่

   1.1 ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน O-NET

                        1) วิเคราะห์ตามภาพรวมรายวิชา

2) วิเคราะห์ตามสาระและมาตรฐานการเรียนรู้

3) วิเคราะห์ข้อมูลร้อยละของผู้เรียนที่ได้คะแนน 50 ขึ้นไป

   1.2 ผลการทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (NT)

   1.3 ผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านออกเขียนได้

   1.4 ผลการประเมินปลายปีตามรายวิชา

   1.5 ผลการประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัย

   1.6 ผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์

   1.7 ผลการประเมินการอ่านคิดวิเคราะห์และเขียน

   1.8 ผลการประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

   1.9 ผลการประเมินสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน

   1.10 ผลการประเมินตามมาตรฐานการศึกษาปฐมวัย

   1.11 ผลการประเมินตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน

2. การจัดการข้อมูลสารสนเทศปีการศึกษาปัจจุบัน โดยสร้างแบบกรอกข้อมูล ด้วย Google sheets ไว้ใน Google Drive เพื่อให้ครูเข้ากรอกข้อมูลการวัดผล การวิเคราะห์ผู้เรียนของปีปัจจุบันแบบเรียลไทม์ เช่น ข้อมูลความสามารถพื้นฐานการอ่าน การเขียน ทักษะพื้นฐานการคิดคำนวณ ข้อมูลการวัดผลรายหน่วยการเรียนรู้ เป็นต้น 
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เมื่อครูบันทึกข้อมูลเสร็จ จะแปลผลข้อมูลเป็นร้อยละ เป็นระดับคุณภาพ และเป็นกราฟ ได้ทันที ครูผู้สอน ครูผู้นิเทศ ผู้อำนวยการโรงเรียน และครูทุกคนในโรงเรียนสามารถรู้ผลและดูได้ในทุกที่ทุกเวลา

3. สร้างกลุ่มบนเฟชบุ๊ก (Facebook) หรือชุมชนใน Google Plus (G+) เพื่อให้ครูบันทึกข้อมูลภาพถ่าย คลิปวีดีโอกิจกรรมการเรียนรู้ผลงานของผู้เรียน

4. สร้าง Google Form สำหรับครู บันทึก Link ข้อมูล ภาพถ่าย คลิปวีดีโอ กิจกรรมการเรียนรู้ผลงานของผู้เรียน เชื่อมโยงกับกลุ่มเฟชบุ๊ก (Facebook) หรือ Google Plus (G+)

5. สร้าง Google Form สำหรับผู้นิเทศ บันทึก Link ข้อมูล ความคิดเห็นของผู้นิเทศ ที่บันทึกไว้ในการนิเทศออนไลน์ ผ่านกลุ่มเฟชบุ๊ก (Facebook) หรือ Google Plus (G+)

6. สร้างเว็บไซต์นิเทศออนไลน์ ด้วย Google Site โดยทำ Link เชื่อมโยงข้อมูลที่กล่าวแล้วในข้อ 1 – 5ให้สามารถดูข้อมูลปัจจุบันและใช้งานการนิเทศออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา

7. ประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครู สร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ G-Suite For Education (Google Apps) และวิธีการดำเนินการนิเทศออนไลน์โดยใช้ข้อมูลเป็นฐาน

8. จัดทีมนิเทศออนไลน์โดยใช้ข้อมูลเป็นฐาน เป็นทีมพัฒนา 2 – 3 คน ร่วมมือนิเทศซึ่งกันและกันสัปดาห์ละครั้ง

ระดับครูผู้สอน และผู้นิเทศ

ครูรวมกลุ่มเป็นทีมพัฒนา 2-3 คน จัดการเรียนรู้และร่วมมือนิเทศซึ่งกันและกัน ดำเนินการตามกระบวนการ 
5 ขั้น ต่อ 1 หน่วยการเรียนรู้ ดังต่อไปนี้

ขั้นที่ 1 ขั้นวางแผนโดยใช้ข้อมูลเป็นฐาน

   1.1 ครูวางแผนจัดการเรียนรู้ โดยศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของผู้เรียน ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เกี่ยวข้อง ศึกษาหลักสูตร โดยเน้นมาตรฐาน ตัวชี้วัดชั้นปี และสมรรถนะที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน

   1.2 ครูจัดทำโครงสร้างรายวิชา แผนการจัดการเรียนรู้รายปี (ระบุรายละเอียดเป็นหน่วยการเรียนรู้) และจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้รายคาบ

   1.3 ครูนำเสนอแผนการจัดการเรียนรู้ กับทีมพัฒนา

   1.4 ทีมพัฒนาร่วมสนทนาเสนอแนะ (ชั้น ป.1 – 3 ทุกวันพุธ ชั้น ป.4 – 6 ทุกวันพฤหัสบดี ชั้นอนุบาล ทุกวันศุกร์) ครูผู้สอนนำไปปรับปรุงแก้ไข

   1.5 ครูบันทึกแผนการจัดการเรียนรู้ใน Google Drive เชื่อมโยงที่เว็บไซต์การนิเทศภายในที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ขั้นที่ 2 ขั้นจัดการเรียนรู้

   2.1 ครูจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน โดยเน้นกิจกรรมที่สอดคล้องกับ keyword และประเด็นคำถาม จากมาตรฐานและตัวชี้วัดของหลักสูตร

   2.2 ครูบันทึกภาพหรือคลิปวีดีโอกิจกรรมการเรียนรู้ และผลงานของนักเรียน

ขั้นที่ 3 ขั้นนำเสนอกิจกรรมการเรียนรู้

   3.1 ครูนำเสนอภาพ หรือคลิปวีดีโอกิจกรรมการเรียนรู้ หรือข้อมูลที่ได้จากการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน ในกลุ่ม Facebook : utapao teachergroups

   3.2 ครูนำ Link ส่งผ่าน Google form เชื่อมโยงระบบข้อมูล ใน Google Drive และเว็บไซต์นิเทศภายใน

ขั้นที่ 4 ขั้นนิเทศออนไลน์

   4.1 ผู้นิเทศ (ครูในทีมพัฒนา) ศึกษาข้อมูล กิจกรรมการเรียนรู้ ที่ครูบันทึกไว้ใน Facebook :utaopao teachergroups

   4.2 ผู้นิเทศเสนอความคิดเห็น ข้อเสนอแนะใน Facebook : utaopao teachergroups ตามประเด็นในเครื่องมือประกอบการนิเทศออนไลน์โดยใช้ข้อมูลเป็นฐาน ซึ่งสอดคล้องกับจุดเน้นการพัฒนาผู้เรียนของโรงเรียน

ขั้นที่ 5 ขั้นสรุปผลการนิเทศ

ครูผู้สอนและทีมนิเทศ ร่วมประชุมสรุปผล สะท้อนผล ให้ข้อคิดเห็น เสนอแนะเพื่อปรับปรุงพัฒนา 
ตามประเด็นประกอบการนิเทศออนไลน์โดยใช้ข้อมูลเป็นฐาน ดังนี้

   5.1 ความสัมพันธ์ของแผนการจัดการเรียนกับมาตรฐานและตัวชี้วัดชั้นปีของหลักสูตร

   5.2 การกำหนด Keyword ประเด็นคำถาม และการนำไปไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้

   5.3 ความสอดคล้องของกิจกรรมการเรียนรู้กับจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

   5.4 การใช้ ICT ในการจัดการเรียนรู้

   5.5 วิธีการและเครื่องมือวัดและประเมินผล

หมายเหตุ : ทีมพัฒนาจะร่วมมือดำเนินการตามกระบวนการ 5 ขั้น ต่อ 1 หน่วยการเรียนรู้ เป็นวงจรต่อเนื่องทุกหน่วยการเรียนรู้ และสรุป รายผลการนิเทศภายใน เมื่อสิ้นปีการศึกษา

ผลการดำเนินการ

จากการดำเนินการบริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอนของครูด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และดำเนินการนิเทศภายใน โดยใช้ MIND MODEL เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาครู สู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนปรากฏว่าบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนี้

1. ครูทุกคนได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์หลักสูตร ให้ความสำคัญกับมาตรฐาน ตัวชี้วัดชั้นปีของหลักสูตร สามารถกำหนดคำสำคัญ (Keyword) และตั้งประเด็นคำถามเพื่อนำไปออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ และจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนได้สอดคล้องกับมาตรฐาน ตัวชี้วัด และสมรรถนะสำคัญของหลักสูตร

2. ผู้เรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับดีเยี่ยม มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET และ NT) ปีการศึกษา 2561 สูงกว่าปีการศึกษา 2560 สูงกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละระดับประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยร้อยละของโรงเรียนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละระดับประเทศ ปรากฏว่าสูงกว่าปีการศึกษา 2560 

การนำผลการนิเทศภายในไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

โรงเรียนอนุบาลวัดอู่ตะเภา ดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้การนิเทศภายใน แบบ MIND Model ทำให้ครูมีการพัฒนาและส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน ดังกล่าวแล้ว ดังนั้นเพื่อการดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เกิดผลการพัฒนาที่ยั่งยืน และทำให้การบริหารจัดการของโรงเรียนและการนิเทศภายในมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงนำผลการนิเทศภายใน ปีการศึกษา 2561 มาใช้ในพัฒนาครูสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ปีการศึกษา 2562 ดังนี้

1. พัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนที่เน้นให้ผู้เรียนมีทักษะพื้นฐานและคุณลักษณะเพื่อการเรียนรู้ มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาการคำนวณ มีความสามารถในการคิดสร้างสรรคLชิ้นงานหรือสร้างนวัตกรรมได้เหมาะสมกับช่วงวัย

2. พัฒนาครูให้มีความสามารถในการวิเคราะห์ผลการประเมินระดับชาติ และนำผลการประเมินไปใช้ในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

3. พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศแบบเรียลไทม์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

4. จัดทำแผนการนิเทศภายใน และจัดทำปฏิทินดำเนินการ ประจำปีการศึกษา 2562 ดังนี้

ตัวอย่างการจัดทำแผนการนิเทศภายใน และจัดทำปฏิทินดำเนินการ ประจำปีการศึกษา 2562

ที่มา: หน่วยศึกษานิเทศก์.  (2562).  แนวทางการนิเทศภายในโดยใช้ห้องเรียนเป็นฐานเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน.   สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, กรุงเทพมหานคร.

Comments

comments

Powered by Facebook Comments

Exit mobile version