fbpx
Digital Learning Classroom
การนิเทศภายในความรู้ทั่วไปศึกษานิเทศก์

กิจกรรมการนิเทศภายในโรงเรียน ตอนที่ 3 การให้คำปรึกษาแนะนำ

แชร์เรื่องนี้

การให้คำปรึกษาแนะนำ

การให้คำปรึกษาแนะนำ หมายถึง การพบปะกันระหว่างผู้นิเทศกับผู้รับการนิเทศซึ่งอาจกระทำได้หลายวิธี แต่ในที่นี้ขอเสนอแบบโคชชิ่ง (Coaching techniques) ซึ่งเป็นวิธีการพัฒนาบุคลากรอย่างมีแบบแผน โดยกระทำ ณ จุดปฏิบัติงาน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานก้าวไปถึงจุดหมายปลายทางได้ เช่น ความก้าวหน้าทางวิชาชีพ ความสามารถที่จะรับผิดชอบงานในหน้าที่สูงขึ้น เช่น กรณีแต่งตั้งเป็นผู้นิเทศ หรือเป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมงานมากขึ้น

วิธีการให้คำแนะนำปรึกษาการให้คำแนะนำปรึกษา มี 2 วิธี คือ

วิธีที่ 1 การให้คำปรึกษาแนะนำแบบไม่เป็นทางการ เป็นการให้คำปรึกษาแนะนำ โดยใช้เวลาว่างพูดคุยกัน เช่น ตอนรับประทานอาหารกลางวัน เป็นต้น วิธีนี้ผู้นิเทศสามารถให้ความช่วยเหลือผู้รับการนิเทศได้ 3 ลักษณะ คือ

   1.1 บอกวิธีแก้ปัญหาโดยตรง

   1.2 เสนอข้อมูลและให้โอกาสผู้รับการนิเทศวิเคราะห์ปัญหาเอง

   1.3 แบบผสมผสาน ทั้งลักษณะที่ 1 และ 2

ขั้นตอนการนิเทศ

1) รับรู้ปัญหา

2) วิเคราะห์ปัญหา

3) แก้ไขปัญหา โดยเลือกวิธีแก้ปัญหาลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ข้างต้นนี้

วิธีที่ 2 การให้คำปรึกษาแบบเป็นทางการ การให้คำปรึกษาแบบเป็นทางการใช้ขั้นตอนของการนิเทศแบบโคชชิ่งเขียนเป็นสัญลักษณ์ คือ CQCD ซึ่งมาจากคำต่อไปนี้

C – Compliment (ชมเชย)

Q – Question (สอบถาม)

C – Correct (แก้ไข)

D – Demonstrate (สาธิต)

ขั้นตอนการนิเทศ

ขั้นที่ 1 ชมเชย

เมื่อมีใครคนหนึ่งกำลังรับการนิเทศ เขาอาจรู้สึกว่าเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์เขาจึงพยายามหาข้อแก้ตัวต่าง ๆ และพยายามสร้าง “กำแพงใจ” มาขวางกั้นการติดต่อสื่อสาร ระหว่างเขากับผู้นิเทศ แต่เมื่อเริ่มการสนทนาด้วยการชมเชย ยกย่องผลงานที่ดีของเขาก่อน (ด้วยความบริสุทธิ์ใจ) เขาก็จะ “ปลดอาวุธตัวเอง” ข้อแก้ตัวของเขาก็จะถูกเก็บเอาไว้ และ “กำแพงใจ” จะเปิดออก แล้วเขาก็พร้อมที่จะรับฟัง

ขั้นที่ 2 สอบถาม ในขั้นที่แล้วมา แม้ว่าจะได้ให้คำชมเชยแก่เขาไปบ้างแล้ว บางทีความคิดต่อต้านอาจเกิดขึ้นได้อีกอย่างง่ายดาย หรือกระทำในเชิงวิจารณ์ หรือเสนอแนะเร็วขึ้นการถามในขั้นนี้ ทำให้ผู้รับการนิเทศมีความมั่นใจว่า ผู้นิเทศยินดีรับฟังเหตุผลของเขา และเขารู้สึกว่าผู้นิเทศต้องการมาให้ความช่วยเหลือ มีจิตใจเปิดกว้าง และการสื่อสารเป็นแบบคู่ปรึกษามากกว่าเจ้านายกับลูกน้อง

ขั้นที่ 3 แก้ไข เมื่อผ่านมา 2 ขั้นตอนแล้ว ผู้นิเทศก็มาถึงขั้นที่จะเสนอแนะแนวทางปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ได้ เพราะมีความเข้าใจที่ดีต่อกัน

ขั้นที่ 4 สาธิต บางครั้งการอธิบายตามขั้นที่ 3 อาจไม่ชัดเจนเพียงพอ จึงอาจสาธิต หรือยกตัวอย่างยกเหตุการณ์ มาแสดงให้เห็นจริงเมื่อผู้นิเทศให้คำปรึกษาแนะนำผู้รับการนิเทศเสร็จแล้ว จึงบันทึกลงในแบบบันทึกการให้คำปรึกษาแนะนำ ดังนี้

 

ที่มา: กลุ่มงานนิเทศ ติดตามและประเมินผลระบบบริหารและการจัดการศึกษา.  (ม.ป.ป.).  คู่มือการนิเทศภายในโรงเรียน.   กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 11, สุราษฎร์ธานี

Comments

comments

ติดต่อ ดร.อนุศร หงษ์ขุนทด
error: Content is protected !!