fbpx
Digital Learning Classroom
การนิเทศภายในความรู้ทั่วไปศึกษานิเทศก์

กิจกรรมการนิเทศภายในโรงเรียน ตอนที่ 4 การสนทนาทางวิชาการ

แชร์เรื่องนี้

การสนทนาทางวิชาการ หมายถึง การประชุมครูหรือกลุ่มผู้สนใจเรื่องราวข่าวสารเดียวกันโดยกำหนดให้ผู้นำสนทนาคนหนึ่ง นำสนทนาในเรื่องที่กลุ่มสนใจ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติงาน เทคนิค วิธีการแก่คณะครูในโรงเรียน และพัฒนาบุคลากรในโรงเรียน

ขั้นตอนการนิเทศแบบสนทนาทางวิชาการ มีขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1 ศึกษาปัญหา

   ขั้นศึกษาปัญหามีวิธีการ คือ สำรวจปัญหา ความต้องการในเรื่องราวที่มีความสนใจร่วมกันหรือเป็นปัญหาร่วมกัน เช่น เรื่องการสอนภาษาไทยแบบมุ่งประสบการณ์ภาษา เรื่องการจัดการเรียนรู้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น แล้วลำดับเรื่องที่จะใช้สนทนาทางวิชการตามความสำคัญ ความจำเป็น และความเหมาะสม

ขั้นที่ 2 เลือกผู้นำสนทนาทางวิชาการ มีวิธีการดังนี้

2.1 เลือกบุคคลใดบุคลหนึ่งในโรงเรียน ที่เห็นว่ามีความสามารถเป็นผู้นำสนทนาทางวิชาการได้ โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องที่จะสนทนาได้อย่างลึกซึ้งกว่าผู้อื่น

2.2 เลือกบุคคลภายนอก หากเห็นว่า เรื่องที่จะสนทนานั้นค่อนข้างยากคณะครูในโรงเรียนยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจ และความชำนาญเพียงพอ

2.3 ผู้นำทางวิชาการ ควรหมุนเวียนกันไป ไม่ควรเป็นผู้เดียวซ้ำกันตลอดปี

2.4 ประสานงานกับผู้นำสนทนาทางวิชาการ ทั้งในหรือนอกโรงเรียน โดยแจ้งวัตถุประสงค์ให้เข้าใจตรงกัน

ขั้นที่ 3 ปฏิบัติการ มีขั้นตอนดังนี้

3.1 กำหนดการสนทนาทางวิชาการ ในช่วงหลังรับประทานอาหารกลางวัน หรือช่วงว่างตอนใดตอนหนึ่ง
ที่เห็นว่าเหมาะสม โดยอาจกำหนดเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือนตามความต้องการ และทำปฏิทินไว้ให้ชัดเจน

3.2 กำหนดเวลาสนทนาครั้งละ 30 – 45 นาที

วิธีการพูดนำเสนอในเชิงวิชาการ

การพูดนำเสนอในเชิงวิชาการ ควรมีลำดับการพูด (Outline) การเตรียมสื่อ และการเตรียมตัว ดังนี้

1. หลักสำคัญของการพูดนำเสนอเชิงวิชาการ

1.1 ต้องมีการเกริ่นนำ เพื่อแจ้งให้ผู้ฟังทราบว่าเรื่องที่ฟังเกี่ยวกับอะไรมีขั้นตอนการนำเสนออย่างไร และจะได้อะไรจากการฟัง

1.2 ช่วงบทนำควรจะต้องกระชับ และพูดเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นที่จะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่อง และความสำคัญของเรื่องที่จะพูด

1.3 ในส่วนของผลการสรุป และข้อแนะนำ ควรพูดอย่างละเอียด

1.4 ในส่วนที่ไม่ได้มีส่วนร่วม หรือมีรายละเอียดมากเกินไป ไม่ควรจะนำมากล่าวถึงการพูดต้องกระชับและชัดเจน การพูดที่ยาวเกินไป หรือมีรายละเอียดมากเกินไปจะทำให้เกิดการเบื่อหน่าย

1.5 ต้องทำให้ผู้ฟังสนใจในเรื่องที่พูดและไม่รู้สึกเบื่อหน่าย

1.6 ต้องพูดกับผู้ฟัง ไม่ใช่ท่องจำเรื่อง ดังนั้นควรจำแค่สองสามบรรทัดแรกเพื่อการเริ่มต้นที่ดี

1.7 ตาต้องมองไปยังผู้ฟังไม่ใช่ผนัง การสบสายตากับผู้ฟังจะช่วยให้ผู้ฟังสนใจในเรื่องที่พูด และทำให้รู้ว่าผู้ฟังรู้สึกเบื่อหน่ายหรือไม่

2. การเตรียมสื่อ ควรจะต้องทราบขอบเขตของเรื่องที่จะพูด เวลาที่ต้องใช้และกลุ่มผู้ฟัง เพื่อที่จะได้เตรียมเรื่องให้เหมาะสมกับผู้ฟังและเวลา ควรมีขั้นตอนดังนี้

2.1 เตรียมสื่อในการพูดไม่เกินหนึ่งแผ่นต่อเวลาพูดหนึ่งนาที

2.2 ถ้าเตรียมแผ่นใส ควรจะนำเสนอไม่เกิน 10 บรรทัดต่อหนึ่งแผ่น

2.3 การเลือกใช้สีไม่ควรใช้คู่สีที่ทำให้มองลำบากเช่น แดงบนพื้นเขียว

2.4 ใช้ตัวหนังสือสีอ่อนบนพื้นสีเข้มจะทำให้อ่านได้ง่าย และไม่มีการสะท้อนกับแสงอื่น ๆ ในส่วนทฤษฎีควรจะนำเสนอเฉพาะสมการที่ใช้โดยไม่ต้องเขียนอธิบายอย่างละเอียดว่าได้มาอย่างไร

2.5 ควรจะหลีกเลี่ยงการใช้สมการยาวๆ

2.6 ถ้าจำเป็นให้แสดงเฉพาะสมการที่สำคัญเท่านั้น

2.7 ความสำคัญของสมการและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ควรจะอธิบายโดยการพูด

2.8 ควรหลีกเลี่ยงการใช้ตาราง แต่ถ้าจำเป็นควรจำกัดให้มีข้อมูลจำนวนไม่มากเกินไป

2.9 รูป และแผนภูมิ ควรจะชัดเจน คำอธิบายของแกนต่าง ๆ ต้องสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน

3. การพูดและการเตรียมตัว

3.1 ควรเตรียมตัวมาอย่างดีและมีความเข้าใจในเนื้อหาที่จะพูด

3.2 ฝึกพูดเพื่อตรวจสอบว่าสื่อที่เตรียมและเนื้อหาที่เหมาะสมกับเวลาและผู้ฟังหรือไม่

3.3 ทำแผ่นโน้ต เพื่อใช้เตือนความจำ ในเรื่องที่ควรจะพูด

3.4 แต่งกายให้เรียบร้อยและเหมาะสมกับสถานที่และผู้ฟัง

3.5 การทำสมาธิก่อนการพูด อาจช่วยให้อาการประหม่า หรือตื่นเต้นลดลงสูดหายใจลึกๆ ก่อนและระหว่างการพูดเพื่อระงับอาการตื่นเต้น

3.6 ควรจะสำรวมกิริยา และใช้ภาษาที่เหมาะสมในการพูด

3.7 อาจดูโน้ตช่วยระหว่างพูด ถ้าเกิดอาการตื่นเต้นจนลืมเรื่องที่จะพูด

3.8 ต้องมีความกระตือรือร้นในเรื่องที่จะพูด ถ้าพูดเสียงโทนเดียวและดูเฉื่อยๆ ผู้ฟังจะไม่สนใจและเบื่อหน่าย

3.9 ต้องพยายามรักษาเวลาในการพูดให้เหมาะสม ถ้ากำลังจะเกินเวลาที่กำหนดควรจะรีบสรุปการพูดให้จบตามเวลาที่กำหนด

ที่มา: กลุ่มงานนิเทศ ติดตามและประเมินผลระบบบริหารและการจัดการศึกษา.  (ม.ป.ป.).  คู่มือการนิเทศภายในโรงเรียน.   กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 11, สุราษฎร์ธานี

Comments

comments

Powered by Facebook Comments

ติดต่อ ดร.อนุศร หงษ์ขุนทด
error: Content is protected !!