fbpx
Digital Learning Classroom
การนิเทศภายในความรู้ทั่วไปศึกษานิเทศก์

แนวทางการดำเนินการนิเทศภายในโดยใช้ห้องเรียนเป็นฐานเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

แชร์เรื่องนี้

มาตรฐานการนิเทศภายในโรงเรียน

การวางแผนการนิเทศภายในโรงเรียน เป็นกระบวนการสำคัญที่จะต้องดำเนินการให้ได้แผนนิเทศสำหรับใช้เป็นเครื่องมือ/คู่มือปฏิบัติการนิเทศภายในโรงเรียน แสดงถึงการบริหารจัดการโครงสร้างองค์กร และระบบการดำเนินงานของโรงเรียนได้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดมาตรฐานในการนิเทศภายในโรงเรียนไว้ 5 มาตรฐาน ดังนี้

มาตรฐานที่ 1 โรงเรียนกำหนดผู้รับผิดชอบงานนิเทศภายในโรงเรียนและมีคำสั่งแต่งตั้งเป็นลายลักษณ์อักษร

1. ให้มีคณะบุคคลรับผิดชอบงานนิเทศภายในโรงเรียนและมีคำสั่งแต่งตั้ง

2. บุคลากรที่ได้รับการแต่งตั้งมีคุณสมบัติเหมาะสม

3. มีการกำหนดภาระงานและความรับผิดชอบไว้ชัดเจน

4. บุคลากรที่ได้รับมอบหมายเข้าใจภาระงานและความรับผิดชอบงานนิเทศภายในโรงเรียน

5. คณะครูในโรงเรียนมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้รับผิดชอบงานนิเทศภายในโรงเรียน

มาตรฐานที่ 2 โรงเรียนมีระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการวางแผนการนิเทศ

1.  มีข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นที่ต้องใช้ในการนิเทศ ดังนี้

1.1 ข้อมูลแสดงสภาพการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู

1.2 ข้อมูลแสดงความต้องการพัฒนาของครู

1.3 นโยบายของหน่วยงานระดับเหนือในการพัฒนาครู

2. ข้อมูลสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

3. การจัดเก็บข้อมูลสะดวกและนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที

4. มีการนำข้อมูลที่ได้จัดเก็บมาใช้ประโยชน์ในการวางแผน

5. มีข้อมูลย้อนหลังอย่างน้อย 2 ปี

มาตรฐานที่ 3 โรงเรียนมีแผนการนิเทศที่ตอบสนองความต้องการพัฒนาครูของครูและของโรงเรียน

มีแผนนิเทศที่มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องพัฒนาครู

2. จุดเน้นที่ต้องพัฒนา

3. กิจกรรมการนิเทศและรายละเอียดของแต่ละกิจกรรม ได้แก่ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ขั้นตอนการดำเนินงาน ระยะเวลา สื่อและเครื่องมือที่จำเป็น วิธีการวัดประเมินผลกิจกรรมการนิเทศ

4. แผนนิเทศของโรงเรียนตอบสนองความต้องการพัฒนาของครูและของโรงเรียน

 5. บุคลากรมีส่วนร่วมในการวางแผนการนิเทศตามบทบาทหน้าที่ของตน

6. การเขียนสาระสำคัญของแผนการนิเทศแต่ละส่วนสอดคล้องสัมพันธ์กัน

มาตรฐานที่ 4 โรงเรียนดำเนินการตามแผนการนิเทศที่วางไว้

1. มีผู้รับผิดชอบดำเนินการตามแผน

2. ผู้รับผิดชอบรับทราบ และดำเนินการตามแผนการนิเทศ

3. คณะครูรับทราบแผนนิเทศของโรงเรียน

4. ผู้นิเทศดำเนินการได้ตามแผนการนิเทศ

5. มีการบันทึกการดำเนินการและผลการดำเนินการของแต่ละกิจกรรม

มาตรฐานที่ 5 โรงเรียนประเมินผลตามแผนการนิเทศอย่างเป็นระบบและนำผลการประเมินมาปรับปรุงการนิเทศของโรงเรียน

1. มีการวางแผนประเมินผลแผนนิเทศ

2. แผนการประเมินผลแผนนิเทศ ประกอบด้วย

 2.1 สิ่งที่จะประเมิน

2.2 สภาพความสำเร็จและเกณฑ์การประเมิน

2.3 วิธีการและเครื่องมือประเมิน

2.4 แหล่งข้อมูลผู้ประเมิน

3. มีรายงานผลแผนนิเทศของโรงเรียนที่ครอบคลุมสาระสำคัญ ดังนี้

3.1 แผนนิเทศปีการศึกษาที่จะประเมิน

3.2 การดำเนินการตามแผนนิเทศและผลการดำ เนินการของแต่ละกิจกรรม

3.3 ผลตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมการนิเทศแต่ละกิจกรรม

3.4 อุปสรรค/ปัญหาในการดำเนินการ

4. คณะครูมีส่วนร่วมในกิจกรรมการประเมิน

5. นำผลการประเมินไปพิจารณาวางแผนนิเทศของโรงเรียนในปีต่อไป

เพื่อให้การนิเทศเป็นไปตามมาตรฐาน แผนการนิเทศเป็นเสมือนเข็มทิศของการนิเทศซึ่งต้องวางแผนโดยอิงหลักการ ทฤษฎี เทคนิควิธีการที่เกี่ยวข้องกับการนิเทศ เพื่อให้ได้แผนการนิเทศที่ดีมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับบริบทและความต้องการจำเป็นในการพัฒนางานของโรงเรียน และครู (กลุ่มงานนิเทศ ติดตามและประเมินผลระบบบริหารและการจัดการศึกษา, ม.ป.ป.) ได้เสนอเทคนิควิธีการดำเนินการสู่มาตรฐานการนิเทศภายใน ดังนี้

ขั้นที่ 1 สร้างความตระหนัก

เป็นขั้นการจัดการให้ครูรับรู้ปัญหาหรือสถานการณ์ ให้ตระหนักถึงความสำคัญจำเป็นในการพัฒนานั้น ๆ เช่น การให้รับทราบข้อมูล หรือสภาพปัญหา การกระตุ้นหรือสร้างแรงจูงใจสภาพความสำเร็จในขั้นนี้ คือ ครูรับทราบปัญหา/นโยบาย มีความสนใจและกระตือรือร้นและพร้อมจะแก้ปัญหาหรือพัฒนาตนเอง

ขั้นที่ 2 ปักหลักชัย

เป็นการดำเนินงานเพื่อกำหนดจุดพัฒนา และกำหนดสภาพความสำเร็จในการพัฒนาร่วมกัน โดยรวบรวมข้อมูลและศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดหลักชัยหรือเป้าหมายสภาพความสำเร็จในขั้นนี้ คือ

1. มีข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องเป็นระบบ สะดวกต่อการใช้วางแผน

2. ผู้เกี่ยวข้องมีภาพความคาดหวัง เพื่อเตรียมวางแผนการนิเทศ

3. มีเป้าหมาย/วัตถุประสงค์การนิเทศชัดเจน สอดคล้องกับความต้องการ และรับรู้ร่วมกัน

ขั้นที่ 3 ร่วมใจพัฒนา

เป็นการพิจารณาหาทางเลือกในการนิเทศ เช่น ผู้นิเทศ ผู้รับการนิเทศ วิธีการนิเทศ/กิจกรรม สื่อ/เครื่องมือ ทั้งนี้การดำเนินการอาจดำเนินการในลักษณะกลุ่มที่มีประสิทธิภาพซึ่งอาจมีหลายกลุ่มตามความสนใจ/ความต้องการจำเป็น โดยเน้นการมีส่วนร่วมในการวางแผนและกำหนดองค์ประกอบต่าง ๆ และที่สำคัญผู้บริหารในฐานะผู้บริหารการศึกษา และผู้นิเทศการศึกษาต้องเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มประสิทธิภาพ คือ ทำหน้าที่อำนวยการ เช่น การวินิจฉัยสั่งการ การจัดวิธีการให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน เช่น การประสานความรู้ ความคิดของทีมให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการตามเป้าหมาย ทำหน้าที่ผู้นิเทศ เช่น การให้ความรู้ ให้คำปรึกษา ตรวจและประเมินกิจกรรม/งานโครงการสภาพความสำเร็จในขั้นนี้ คือ

1. ผู้รับการนิเทศมีเป้าหมายในการพัฒนาตนเองชัดเจน

2. ผู้รับการนิเทศได้ร่วมกันวางแผนพัฒนาตนเองตามเป้าหมาย

3. ผู้นิเทศมีส่วนร่วมในการคัดเลือกตัวผู้นิเทศ

4. ที่มีความเหมาะสม มีคำสั่งมอบหมายและกำหนดภารกิจชัดเจน

5. ผู้รับการนิเทศรับทราบภารกิจที่จะนิเทศตามสภาพความต้องการ

6. มีกิจกรรมนิเทศที่เหมาะกับสภาพความต้องการจำเป็น และข้อจำกัดของโรงเรียน

ในแต่ละกิจกรรมการนิเทศควรมีองค์ประกอบต่อไปนี้ ชื่อกิจกรรมการนิเทศ จุดประสงค์/เป้าหมายของการนิเทศ สภาพความสำเร็จที่ต้องการพัฒนา (ความรู้/ทักษะ/เจตคติ) กระบวนการ/ขั้นตอนการนิเทศ วัน เวลา สถานที่ที่ดำเนินการ สื่อประกอบการนิเทศ เครื่องมือการนิเทศ และผู้ปฏิบัติ/ผู้รับผิดชอบ/คณะสิ่งสำคัญ คือ ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในเรื่องที่จัดให้มีการนิเทศแม้จะมอบหมายให้ครูนิเทศกันเองก็ตาม กิจกรรมในแต่ละองค์ประกอบจะต้องร้อยรัดสัมพันธ์กันมีความชัดเจนและเห็นภาพงานตลอดแนว

ขั้นที่ 4 รู้ค่าผลงาน

เป็นขั้นตอนการวางแผนการดำเนินงานนิเทศภายในโรงเรียน นอกจากจะเป็นการประเมินผล สภาพความสำเร็จของการดำเนินงานแล้ว ยังเป็นการนำผลข้อมูลด้านปัญหา/อุปสรรค เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนปรับปรุงแก้ไขในการนิเทศครั้งต่อไป

ดังนั้น การวัดประเมินผลที่ดีควรมีข้อมูลที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ผู้รับการประเมินรู้จุดที่ควรปรับปรุงแก้ไขและยอมรับผลการประเมินด้วยความเต็มใจ ควรวางแผนการประเมินทั้งก่อนดำเนินการ ระหว่างดำเนินการและสิ้นสุดการนิเทศมีหลักการสำคัญ คือ เป็นการติดตามช่วยเหลือ สร้างขวัญกำลังใจ

โดยมุ่งให้ผู้รับการนิเทศสามารถพัฒนาตนเองได้ตามเป้าหมาย เน้นการวัดประเมินผลร่วมกันระหว่างผู้ประเมิน และผู้รับการประเมินเพื่อให้ทราบปัญหา/อุปสรรคในการพัฒนางาน

ควรเปิดโอกาสให้ผู้รับการประเมินมีส่วนร่วม เช่น กำหนดวิธีการประเมิน ให้วิพากษ์เครื่องมือ หรือแบบการประเมิน การคัดเลือกผู้ประเมิน/ทีม การประเมินตนเองเป็นต้น สภาพความสำเร็จในขั้นนี้ คือ

1. ผู้รับการนิเทศมีส่วนร่วมในการวางแผนประเมิน เช่น ร่วมกำหนดขอบข่ายและเกณฑ์การประเมิน กำหนดแหล่งข้อมูลและระยะเวลา

2. สร้างและมีเครื่องมือการประเมินที่หลากหลาย มีคุณภาพสอดคล้องภารกิจ/กิจกรรม

3. มีการวัดประเมินทั้งด้านกระบวนการและผลลัพธ์

ขั้นที่ 5 สืบสานพัฒนาคู่มือสู่การปฏิบัติ

เป็นการนำข้อมูลผลการดำเนินงานจากขั้นตอนที่ 1 – 4 มาสรุปวางแผนจัดทำคู่มือ หรือแผนการนิเทศ และนำไปสู่การปฏิบัติในการนิเทศภายในโรงเรียนต่อไปส่วนประกอบของคู่มือ/แผนการนิเทศควรประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้

ส่วนประกอบตอนต้น

– คำนำ คำชี้แจง สารบัญ

ส่วนประกอบตอนกลาง

ตอนที่ 1 บทนำ

– ความสำคัญและความเป็นมา

– วัตถุประสงค์ของการนิเทศภายใน

ตอนที่ 2 เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ตอนที่ 3 วิธีดำเนินการ

ตอนที่ 4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล

ตอนที่ 5 สรุปอภิปราย

ส่วนประกอบตอนท้าย

คำสั่ง หลักฐานอ้างอิง

สภาพความสำเร็จในขั้นนี้ คือ

1. มีคู่มือ/แผนการนิเทศที่สมบูรณ์

2. คณะผู้นิเทศมีความมั่นใจในการนิเทศสามารถนิเทศได้ตรงตามแผน

ขั้นที่ 6 ร้อยรัด สรุปรายงานผล

เป็นขั้นตอนเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานตามแผนนิเทศ จะต้องมีการสรุปรายงานผลการดำเนินงานให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ โดยใช้รูปแบบการรายงาน การวิจัย หรือรายงานการประเมินโครงการ แล้วนำผลการนิเทศไปใช้พัฒนางานต่อไป สภาพความสำเร็จในขั้นนี้ คือ

1. ทำให้ทราบผลการดำเนินงานว่าบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่

2. ทำให้ทราบข้อมูลในการดำเนินงานว่ามีปัญหา/อุปสรรคอะไร

3. ใช้เป็นข้อมูลในการศึกษา อ้างอิงหลังการดำเนินงานและใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนพัฒนางานในครั้งต่อ ๆ ไป

กิจกรรมการนิเทศภายในสามารถดำเนินการได้หลายวิธี ดังนั้น การดำเนินการนิเทศภายในควรเลือกกิจกรรมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับปัญหา ลักษณะงานและความพร้อมของโรงเรียน เพราะการนิเทศภายในโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาการปฏิบัติงานของครูและการจัดการศึกษาของโรงเรียนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา: หน่วยศึกษานิเทศก์.  (2562).  แนวทางการนิเทศภายในโดยใช้ห้องเรียนเป็นฐานเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน.   สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, กรุงเทพมหานคร.

Comments

comments

Powered by Facebook Comments

ติดต่อ ดร.อนุศร หงษ์ขุนทด
error: Content is protected !!