Digital Learning Classroom
วิทยะฐานะ

การดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่าน ว17/2552

แชร์เรื่องนี้

สรุปการดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่าน ว17/2552 

(ประชุมสัมมนาการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) 4 ครั้งใน 4 ภูมิภาค เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 กันยายน 2561)

จากหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.3/ว 21 สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ ได้แจ้งถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการ ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการ โดยมีการอ้างถึงหนังสือ ดังนี้

1. หนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/ว 17 ลงวันที่ 30 กันยายน 2552

2. หนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.4/ว 10 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2554

3. หนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.3/ว 13 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2556

4. หนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.4/ว 1 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557

และสิ่งที่ส่งมาด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ พร้อมแบบ วฐ.1 – วฐ.3 จํานวน 1 ชุด

โดยเนื้อหากล่าวว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง 1 – 4 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะนั้น ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ได้มีนโยบายมุ่งเน้นให้ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษามีการสั่งสมความชำนาญ ความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนการสอน มีการพัฒนาตนเอง และส่งเสริมให้ประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ พัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ส่งผลถึงคุณภาพผู้เรียนได้อย่างแท้จริง

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ และกำหนดแนวปฏิบัติการดำเนินการในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน โดยให้ใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ได้มีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด

สิ่งที่ต้องเตรียมยื่นคำขอ

อ่านเพิ่มเติม : คู่มือประเมินวิทยฐานะสายงานการสอน ว 17-2552

แนวปฏิบัติการดำเนินการในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน

กรณีผู้ดำรงตำแหน่งครู ได้ยื่นคำขอมีวิทยฐานะ หรือเลื่อนวิทยฐานะ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการฯ ที่ ก.ค.ศ. กำหนดไว้เดิมก่อนวันที่หลักเกณฑ์ และวิธีการนี้ใช้บังคับ แต่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ และวิธีการเดิมนั้นต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ

สำหรับการขอมีวิทยฐานะ หรือเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ และวิธีการฯ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/ว 17 ลงวันที่ 30 กันยายน 2552 หรือตามหลักเกณฑ์ และวิธีการนี้ในครั้งต่อไป ให้ดำเนินการดังนี้

1. ผู้ประสงค์จะขอมีวิทยฐานะ หรือเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ และวิธีการฯ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/ว 17 ลงวันที่ 30 กันยายน 2552 ให้สามารถยื่นคำขอได้ 1 ครั้ง เพียงวิทยฐานะเดียว ดังนี้

1.1 กรณีคำขอรับการประเมินที่ยื่นไว้เดิม ได้รับการอนุมัติ และในวันที่มีหนังสือแจ้งมติมีคุณสมบัติครบ ที่จะขอเลื่อนวิทยฐานะถัดไปได้อยู่แล้ว ให้ยื่นคำขอ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีหนังสือแจ้งมตินั้น

** แต่หากวันที่มีหนังสือ แจ้งมติดังกล่าว ยังมีคุณสมบัติไม่ครบที่จะขอเลื่อนวิทยฐานะถัดไป ให้ยื่นคำขอ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคุณสมบัติครบ

1.2 กรณีคำขอรับการประเมินที่ยื่นไว้เดิม ไม่ได้รับการอนุมัติ ให้ยื่นคำขอได้ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีหนังสือแจ้งมติ

 

 

 

 

 

 

2. กรณีผู้ดำรงตำแหน่งครูอยู่ก่อนวันที่หลักเกณฑ์ และวิธีการนี้ใช้บังคับ หากมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ และวิธีการฯ ที่ ก.ค.ศ. กำหนดไว้เดิม และตามหลักเกณฑ์ และวิธีการนี้ด้วย ให้ยื่นคำขอได้ตามหลักเกณฑ์ใดหลักเกณฑ์หนึ่ง เพียงหลักเกณฑ์เดียว

** กรณีที่ได้ยื่นคำขอมีวิทยฐานะ หรือเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ และวิธีการฯ ที่ ก.ค.ศ. กำหนดไว้เดิม ก่อนวันที่หลักเกณฑ์ และวิธีการนี้ใช้บังคับ แต่การดำเนินการพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ หากผู้นั้นประสงค์จะยื่นคำขอรับการประเมิน ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการนี้ ให้มีหนังสือแจ้งยกเลิกคำขอตามหลักเกณฑ์ และวิธีการฯ เดิม โดยยื่นต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ส่วนราชการ หรือสำนักงาน ก.ค.ศ. แล้วแต่กรณี

 

3. กรณีผู้ดำรงตำแหน่งครู มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิทยฐานะที่จะขอรับการประเมิน ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการฯ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/ว 17 ลงวันที่ 30 กันยายน 2552 อยู่ก่อนวันที่ หลักเกณฑ์ และวิธีการนี้ใช้บังคับ หากประสงค์จะขอมีวิทยฐานะ หรือเลื่อนวิทยฐานะ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการฯ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/ว 17 ลงวันที่ 30 กันยายน 2552 ให้สามารถยื่นคำขอได้ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่หลักเกณฑ์ และวิธีการนี้ใช้บังคับ

4. กรณีผู้ดำรงตำแหน่งครู มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิทยฐานะที่จะขอรับการประเมิน ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการฯ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/ว 17 ลงวันที่ 30 กันยายน 2552 ตั้งแต่วันที่หลักเกณฑ์ และวิธีการนี้ใช้บังคับเป็นต้นไป หากประสงค์จะขอมีวิทยฐานะ หรือเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ และวิธีการ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/ว17 ลงวันที่ 30 กันยายน 2552 ให้สามารถยื่นคำขอได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคุณสมบัติครบ

5. ผู้ดำรงตำแหน่งครู ตั้งแต่วันที่หลักเกณฑ์ และวิธีการนี้ใช้บังคับเป็นต้นไป การดำเนินการขอมีวิทยฐานะ และเลื่อนวิทยฐานะ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ และวิธีการนี้ เว้นแต่ผู้ที่มีกรณีเป็นไปตามเงื่อนไขที่ ก.ค.ศ. กำหนด ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.3/ว 26 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2559 หากประสงค์จะขอมีวิทยฐานะครูชำนาญการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/ว 17 ลงวันที่ 30 กันยายน 2552 ให้สามารถยื่นคำขอได้ 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคุณสมบัติครบ

 

 

 

 

6. ผู้ที่ได้ยื่นคำขอรับการประเมินตามหลักเกณฑ์ และวิธีการฯ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/ว 17 ลงวันที่ 30 กันยายน 2552 ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านไปแล้ว หรือมิได้ยื่นคำขอรับการประเมิน ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามข้อ 1 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 ของแนวปฏิบัติการดำเนินการในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน แล้วแต่กรณี การดำเนินการขอมีวิทยฐานะ และเลื่อนวิทยฐานะต่อไป ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ (ว21)

 

7. ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน หากผู้ดำรงตำแหน่งครู มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์นี้ ข้อ 2.1 ระยะเวลา การดำรงตำแหน่งครู และข้อ 2.3 วินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่คุณสมบัติตามข้อ 2.2 ชั่วโมงการปฏิบัติงาน ข้อ 2.4 การพัฒนา และข้อ 2.5 ผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนดไว้ หากประสงค์จะขอรับการประเมินตามหลักเกณฑ์ และวิธีการนี้ และมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ให้นำไปใช้ในการขอมีวิทยฐานะ หรือเลื่อนวิทยฐานะได้

7.1 มีจำนวนชั่วโมงการปฏิบัติงานสะสมในตำแหน่ง หรือวิทยฐานะที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ย้อนหลังเป็นเวลา 5 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอ ดังนี้

7.1.1 การขอมีวิทยฐานะครูชำนาญการ หรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ ต้องมี ภาระงานสอนไม่ต่ำกว่าภาระงานขั้นต่ำตามที่ส่วนราชการกำหนด โดยความเห็นชอบของ ก.ค.ศ. ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุดที่ ศธ 0206.3/3724 – 3725 ลงวันที่ 21 กันยายน 2553 และต้องมีภาระงานสอนสะสมย้อนหลัง เป็นเวลา 5 ปี รวมกันไม่น้อยกว่า 4,000 ชั่วโมง

7.1.2 การขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ หรือวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องมีภาระงานสอน ไม่ต่ำกว่าภาระงานขั้นต่ำตามที่ส่วนราชการกำหนด โดยความเห็นชอบของ ก.ค.ศ. ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุดที่ ศธ 0206.3/3724 – 3725 ลงวันที่ 21 กันยายน 2553 และต้องมีภาระงานสอนสะสมย้อนหลัง เป็นเวลา 5 ปี รวมกันไม่น้อยกว่า 4,500 ชั่วโมง

7.2 ผ่านการพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด

7.3 มีผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ สายงานการสอน ในช่วงระยะเวลาย้อนหลัง 5 ปีการศึกษา ติดต่อกัน นับถึงวันสิ้นปีการศึกษาก่อนวันที่ยื่นคำขอ ทั้งนี้ ให้ผู้ขอรับการประเมิน รายงานผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ เป็นรายปีการศึกษา ย้อนหลัง 5 ปีการศึกษา และรับรองข้อมูลดังกล่าว ตามแบบรายงานผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ตำแหน่งครู รายปีการศึกษา (วฐ.2)

8. ผู้ขอรับการประเมินที่มีคุณสมบัติตามที่หลักเกณฑ์นี้กำหนดไว้ตามแนวปฏิบัติการดำเนินการในช่วง ระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน หากประสงค์จะขอรับการประเมินตามหลักเกณฑ์ และวิธีการนี้ ให้ดำเนินการดังนี้

8.1 วิทยฐานะครูชำนาญการ และวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ ให้ผู้ขอรับการประเมินยื่นคำขอต่อสถานศึกษา พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบ การพิจารณา จำนวน 2 ชุด ดังนี้

(1) คำขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ ตำแหน่งครู (วฐ.1)

(2) รายงานผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ตามแบบรายงานผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ตำแหน่งครู รายปีการศึกษา (วฐ.2) จำนวน 5 ปีการศึกษา โดยแยกรายงานเป็นรายปีการศึกษา

(3) เอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ตารางสอน คำสั่งมอบหมายงาน วุฒิบัตรผ่านการพัฒนา เป็นต้น

8.2 วิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ และวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญพิเศษให้ผู้ขอรับการประเมินยื่นคำขอต่อสถานศึกษา พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบ การพิจารณา จำนวน 4 ชุด ดังนี้

(1) คำขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ ตำแหน่งครู (วฐ.1)

(2) รายงานผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ตามแบบรายงานผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ตำแหน่งครู รายปีการศึกษา (วฐ.2) จำนวน 5 ปีการศึกษา โดยแยกรายงานเป็นรายปีการศึกษา

(3) ผลงานทางวิชาการ จำนวนไม่น้อยกว่า 2 รายการ ตามที่หลักเกณฑ์กำหนด

(4) เอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ตารางสอน คำสั่งมอบหมายงาน วุฒิบัตรผ่านการพัฒนา เป็นต้น

9. การขอมีวิทยฐานะ หรือเลื่อนวิทยฐานะ สำหรับผู้ที่จะเกษียณอายุราชการในปีที่ขอ

9.1 ผู้ขอมีวิทยฐานะครูชำนาญการ และเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ ให้ยื่นคำขอ พร้อมเอกสารหลักฐาน ตามข้อ 8.1 ต่อสถานศึกษา เพื่อตรวจสอบ และรับรองแล้วเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับ ถึงสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการไม่น้อยกว่า 6 เดือน

9.2 ผู้ขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ และวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญพิเศษ ให้ยื่นคำขอ พร้อมเอกสาร หลักฐาน ตามข้อ 8.2 ต่อสถานศึกษา เพื่อตรวจสอบ และรับรองแล้วเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับถึงสำนักงาน ก.ค.ศ. ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการไม่น้อยกว่า 6 เดือน

10. การประเมินให้ดำเนินการ ดังนี้

10.1 ให้ผู้ประเมินตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับการประเมินให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติการดำเนินการ ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ข้อ 7

10.2 ให้ผู้ประเมิน ประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ขอรับการประเมิน โดยแยกประเมิน เป็นรายปีการศึกษา รวม 5 ปีการศึกษา และบันทึกลงในแบบสรุปผลการตรวจสอบและประเมินตำแหน่งครู (วฐ.3)

10.3 ให้ผู้ประเมินแจ้งผลการประเมินให้ผู้ขอรับการประเมินทราบ กรณีที่ผู้ขอรับการประเมินไม่เห็นด้วย กับผลการประเมินนั้น ให้เปิดโอกาสให้ชี้แจง หากผู้ประเมินพิจารณาแล้วเห็นว่า ผลการประเมินถูกต้องตรงตาม ความเป็นจริงแล้ว แต่ผู้นั้นมีความเห็นไม่สอดคล้องกับผู้ประเมิน ให้ผู้ประเมินแจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผลการประเมิน เมื่อได้ข้อยุติเป็นประการใดให้ถือเป็นอันสิ้นสุด

11. ให้ผู้ประเมินส่งคำขอมีวิทยฐานะ หรือเลื่อนวิทยฐานะ และแบบสรุปผลการประเมินตามข้อ 10.2 พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือส่วนราชการ แล้วแต่กรณี เพื่อดำเนินการต่อไป

12. ผู้ประเมิน เกณฑ์การตัดสิน การพิจารณาอนุมัติผลการประเมิน การพิจารณาดำเนินการของ กศจ. การพิจารณาผลงานทางวิชาการ และการแต่งตั้ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์และวิธีการนี้

13. เมื่อประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการนี้แล้ว หากมีผู้ยื่นขอรับการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/ว 17 ลงวันที่ 30 กันยายน 2552 ตามแนวปฏิบัติการดำเนินการ ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านนี้ ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือส่วนราชการ แล้วแต่กรณี จัดทำบัญชีผู้ยื่นขอ รับการประเมินดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานด้วย

14. กรณีที่ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติการดำเนินการในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านนี้ ให้เสนอ ก.ค.ศ. พิจารณา

 

การประเมินผลงานทางวิชาการ (สำหรับเชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ)

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนดให้การประเมินวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ และวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องเสนอผลงานทางวิชาการ โดยมีรายละเอียด (สำนักงาน ก.ค.ศ., 2560: 20) ดังนี้

    วิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ ต้องมีผลงานทางวิชาการ ซึ่งเป็นานวิจัยในชั้นเรียน หรือรายงานผล การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่เกิดจากชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาด้านการเรียนรู้ของผู้เรียน และสอดคล้องกับแผนการจัดการเรียนรู้ มีการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหา และนำไปสู่การสรุปองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน จำนวนไม่น้อยกว่า2 รายการ โดยต้องเป็นงานวิจัยในชั้นเรียน อย่างน้อย 1 รายการ

 

วิทยฐานะครูเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องมีผลงานทางวิชาการ ซึ่งเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน หรือรายงานผลการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่เกิดจากชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือผลงาน ทางวิชาการในลักษณะอื่น ที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาด้านการเรียนรู้ของผู้เรียน และสอดคล้องกับ แผนการจัดการเรียนรู้ มีการศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหา และนำไปสู่การสรุป องค์ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน จำนวนไม่น้อยกว่า 2 รายการ โดยต้องเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการจัด การเรียนการสอน อย่างน้อย 1 รายการ

ทั้งนี้ ผลงานทางวิชาการที่ผู้ขอเสนอ ต้องเป็นผลงานในช่วงระยะเวลาย้อนหลัง 5 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอ และต้องไม่เป็นผลงานทางวิชาการที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญา หรือประกาศนียบัตรใด ๆ หรือเป็นผลงานทางวิชาการที่เคยใช้เพื่อเลื่อนตำแหน่งหรือเพื่อให้มีวิทยฐานะ หรือเลื่อนวิทยฐานะมาแล้ว

          ความหมายของผลงานทางวิชาการ

ผลงานทางวิชาการของสายงานการสอน หมายถึง รายงานการศึกษา ค้นคว้า หรือผลการวิจัย ในชั้นเรียน หรือผลการวิจัยเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน หรือรายงานผลการพัฒนา การจัดการเรียนรู้ที่เกิดจากชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาด้านการเรียนของผู้เรียนและสอดคล้องกับแผนการจัดการเรียนรู้มีการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและนาไปสู่การสรุปองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน โดยมีลักษณะดังนี้

1. ตรงกับสาขาวิชาที่ขอเลื่อนวิทยฐานะ

2. เป็นผลงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือสาขาวิชาต่าง ๆ และใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน

3. เกิดจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบทางด้านการสอน

4. เป็นผลงานในช่วงระยะเวลา 5 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอ

5. ต้องไม่เป็นผลงานทางวิชาการที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญา หรือประกาศนียบัตรใด ๆ หรือเป็นผลงานทางวิชาการที่ใช้เพื่อเลื่อนตำแหน่งหรือเพื่อให้มีวิทยฐานะ หรือเลื่อนวิทยฐานะมาแล้ว

6. กรณีผลงานทางวิชาการที่ร่วมจัดทำกับผู้อื่นในรูปคณะทางานหรือกลุ่ม ให้ชี้แจง ให้ชัดเจนว่าผู้ขอรับการประเมิน มีส่วนร่วมในการจัดทาในส่วนใด ตอนใด หน้าใดบ้าง คิดเป็นร้อยละเท่าไรของผลงานทางวิชาการแต่ละเล่ม และให้ผู้ร่วมจัดทำทุกคนรับรองพร้อมทั้งระบุว่าผู้ร่วมจัดทำแต่ละรายได้ทำส่วนใดบ้าง

          ประเภทผลงานทางวิชาการ

ผลงานวิจัยในชั้นเรียน หมายถึง รายงานการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาที่มีกระบวนการ วิเคราะห์ปัญหาหรือความต้องการ ในการจัดการเรียนรู้ มีการศึกษาออกแบบเพื่อแก้ปัญหา หรือพัฒนาวิธีการ แนวทางการจัดการเรียนรู้ สื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษา โดยนำไปใช้ปฏิบัติจัดการเรียนรู้จริง และมีการประเมินผล ซึ่งปรากฏว่าแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการที่จะพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้

รายงานผลการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่เกิดจากชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หมายถึง รายงานเพื่อแก้ปัญหาการจัดการเรียนรู้ที่ใช้วิธีการจัดการเรียนรู้ สื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษา ที่ได้จากชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ซึ่งดำเนินการอย่างเป็นระบบ และได้ปฏิบัติการจัดการเรียนรู้จริง มีผลสำเร็จ ในการแก้ปัญหานั้น

การวิจัยเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน หมายถึง รายงานการวิจัยเพื่อแก้ปัญหา การจัดการเรียนรู้ การสร้างสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษา เทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้ วิธีการและเครื่องมือที่ใช้วัดและประเมินผล โดยมีการศึกษาค้นคว้าและดำเนินการวิจัย อย่างเป็นระบบ การวิเคราะห์ข้อมูลถูกต้อง มีการสรุปผลและเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา

ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาด้านการเรียนรู้ของผู้เรียนและสอดคล้องกับแผนการจัดการเรียนรู้ เช่น

1. การประเมินงาน หรือการประเมินโครงการที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน

2. สื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา เช่น ผลงานด้านการจัดทำสื่อการเรียนการสอน ผลงานด้านการคิดพัฒนารูปแบบนวัตกรรม ที่นำมาใช้ในการปฏิบัติงานทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งอาจจัดทำเป็นเอกสาร หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ รวมทั้งเทคนิค วิธีการจัดการเรียนรู้ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

องค์ประกอบการประเมินผลงานทางวิชาการ

1. ด้านคุณภาพของผลงานทางวิชาการ

1.1 ความถูกต้องตามหลักวิชาการ

ผลงานทางวิชาการต้องมีความถูกต้องตามหลักวิชาการ และรูปแบบของผลงานประเภทนั้น ๆ เช่น งานวิจัยในชั้นเรียน หรืองานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน จัดทำถูกต้องตามวิธีการ รูปแบบและระเบียบวิธีวิจัย รายงานผลการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่เกิดจากชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ จัดทำถูกต้องตามวิธีการ และรูปแบบของการจัดการเรียนรู้ที่เกิดจากชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ รายงานการประเมินโครงการจัดทำถูกต้องตามวิธีการ และรูปแบบของการประเมินโครงการ หรือ รายงานการพัฒนานวัตกรรมจัดทำถูกต้องตามวิธีการ และรูปแบบของการพัฒนานวัตกรรม เป็นต้น

             1.2 ความสมบูรณ์ของเนื้อหาสาระ

ผลงานทางวิชาการต้องมีเนื้อหาสาระสมบูรณ์ ครบถ้วนถูกต้องตามหลักวิชาการ ทันสมัย มีการค้นคว้าอ้างอิงถูกต้องเชื่อถือได้ การเรียบเรียงถูกต้องตามหลักภาษา และจัดหัวข้อเป็นระบบเดียวกัน ฯลฯ

1.3 ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

ผลงานทางวิชาการต้องแสดงให้เห็นถึงการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ พัฒนาและประยุกต์ใช้ หรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ โดยไม่คัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นโดยมิชอบ

1.4 การจัดทำ การพิมพ์และรูปเล่ม

ผลงานทางวิชาการต้องมีการจัดทำอย่างประณีต การพิมพ์ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสวยงาม เช่น การพิมพ์หัวข้อ การย่อหน้า การพิมพ์ตาราง การพิมพ์เชิงอรรถ บรรณานุกรม การจัดทำรูปเล่มถูกต้อง มีปกหน้า ปกใน คำนำ สารบัญ เนื้อหา บรรณานุกรม ภาคผนวก ปกหลัง เป็นต้น

2. ด้านประโยชน์ของผลงานทางวิชาการ

             2.1 ประโยชน์ต่อผู้เรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา การจัดการเรียนการสอน หน่วยงานการศึกษา และชุมชน พิจารณาจากผลที่ปรากฏต่อผู้เรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา การจัดการเรียน การสอน หน่วยงานการศึกษา และชุมชน อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

2.2 ประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการและการเผยแพร่ในวงวิชาการ พิจารณาจากประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการหรือวิชาชีพ สามารถเป็นแบบอย่างใช้เป็นแหล่งอ้างอิง หรือเป็นแบบในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี มีการนำผลงานไปเผยแพร่ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น จัดพิมพ์ในรายงานประจำปี เอกสาร วารสาร การนำเสนอต่อที่ประชุม สัมมนา การจัดนิทรรศการ การเผยแพร่ทางวิทยุ โทรทัศน์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

เกณฑ์การตัดสินผลงานทางวิชาการ (100 คะแนน)

 

รายการประเมิน คะแนนเต็ม เกณฑ์การตัดสิน
ผลงานทางวิชาการ

1. คุณภาพของผลงานทางวิชาการ

1.1 ความถูกต้องตามหลักวิชาการ

1.2 ความสมบูรณ์ของเนื้อหาสาระ

1.3 ความริเริ่มสร้างสรรค์

1.4 การจัดทำการพิมพ์ และรูปเล่ม

 

50

(20)

(15)

(10)

(5)

วิทยฐานะ ครูเชี่ยวชาญ

ผลงานทางวิชาการ
ต้องได้คะแนนจาก กรรมการแต่ละคน
ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75

วิทยฐานะ ครูเชี่ยวชาญพิเศษ

ผลงานทางวิชาการ
ต้องได้คะแนนจากกรรมการแต่ละคน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80

2. ประโยชน์ของผลงานทางวิชาการ

2.1 ประโยชน์ต่อผู้เรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา การจัดการเรียนการสอน หน่วยงานการศึกษา และชุมชน

2.2 ประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการและเผยแพร่ในวงวิชาการ

50

(30)

(20)

รวมคะแนนผลงานทางวิชาการ 100

ที่มา: สำนักงาน ก.ค.ศ. (2560: 20)

 

ที่มา : วิทยฐานะ พัฒนา ค่าตอบแทน และแนวทางการกำากับติดตามการบริหารงานบุคคลฯ

 

PowerPoint เผยแพร่ทางเว็บไซต์สำนักงาน ก.ค.ศ. (ประชุมสัมมนาการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ๔ ครั้งใน ๔ ภูมิภาค) 

Comments

comments

Powered by Facebook Comments

ติดต่อ ดร.อนุศร หงษ์ขุนทด
error: Content is protected !!