fbpx
Digital Learning Classroom
บทความหลักการและแนวคิด

แนวคิดพื้นฐานของทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองเชิงปัญญา

แชร์เรื่องนี้

แนวคิดพื้นฐานของทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองที่เป็นรากฐานสำคัญในการเน้นไปที่ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้ลงมือกระทำ (Active) และสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งมาจากแนวทางการศึกษาของนักจิตวิทยา และนักการศึกษา คือ พีอาเจต์ (Jean Piaget) ชาวสวิส และ วิก็อทสกี้ (Lev Vygotsky) ชาวรัสเซีย ที่มีแนวคิดทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองเหมือนกันแต่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องของการเรียนรู้ หรือการสร้างการเรียนรู้ว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ดังนั้นแนวคิดทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง จึงแบ่งออกเป็น 2 ทฤษฎี คือ แนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองเชิงปัญญา(Cognitive Constructivism) ของพีอาเจต์ และแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองเชิงสังคม (Social constructivism) ของวิก็อทสกี้ ในบทความนี้จะกล่าวถึง แนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองเชิงปัญญา(Cognitive Constructivism) ก่อนโดยมีรายละเอียด ดังนี้

แนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองเชิงปัญญา (Cognitive Constructivism)

แนวคิดทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองเชิงปัญญา (Cognitive Constructivism) เป็นทฤษฎีการเรียนรู้พุทธิปัญญานิยมที่มีพื้นฐานมาจากทฤษฎีพัฒนาการของพีอาเจต์ ที่สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ช่วงอายุ (Ages) และลำดับขั้น (Stages) ซึ่งทั้งสององค์ประกอบนี้จะทำนายว่าผู้เรียนจะสามารถหรือไม่สามารถเข้าใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดเมื่อมีอายุแตกต่างกัน และพัฒนาการของผู้เรียนว่าจะเกิดการพัฒนาความสามารถทางการรู้คิด (Cognitive Abilities) ผ่านการสร้าง (Construct) ความรู้ด้วยตนเองจากประสบการณ์เดิมในสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มีอยู่ โดยผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้จากการลงมือปฏิบัติ (Active) และสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง

ดังนั้น หากผู้เรียนได้ถูกกระตุ้นด้วยปัญหาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางปัญญา (Cognitive conflict) หรือเรียกว่า “เกิดการเสียสมดุลทางปัญญา” (Disequilibrium) ผู้เรียนจะพยายามปรับโครงสร้างทางปัญญา (Cognitive structuring) ให้เข้าสู่ภาวะสมดุล (Equilibrium) ที่เรียกว่า “สกีมา” (Schemas) รูปแบบการทำความเข้าใจ (Mental model) ในสมอง ซึ่งสกีมาเหล่าจะนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (Change) ขยายได้ (Enlarge) และซับซ้อนขึ้นได้

โดยผ่านกระบวนการการดูดซึม (Assimilation) ทำให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางปัญญา (Accommodation) เข้าไปไว้ในโครงสร้างทางปัญญา เรียกว่าการปรับเข้าสู่สภาวะสมดุล (Equilibrium) ทางพุทธิปัญญา หรือที่เรียกว่าการสร้างองค์ความรู้ใหม่

บทบาทของผู้สอนในห้องเรียนตามแนวคิดเพียเจต์ ที่สำคัญคือ การจัดเตรียมสิ่งแวดล้อมที่ให้ผู้เรียนได้สำรวจ ค้นหาตามธรรมชาติในห้องเรียนควรเติมสิ่งที่น่าสนใจที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเองอย่างตื่นตัวโดยมีกระบวนการ ดังนี้

1. การดูดซึมเข้าสู่โครงสร้างทางปัญญา (Assimilation) เป็นการตีความ หรือรับข้อมูลจากสิ่งแวดล้อมมาปรับเข้ากับโครงสร้างทางปัญญา

          2. การปรับโครงสร้างทางปัญญา (Accommodation) เป็นความสามารถในการปรับโครงสร้างทางปัญญาให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม โดยการเชื่อมโยงระหว่างความรู้เดิมและสิ่งที่ต้องเรียนใหม่

จากภาพสามารถอธิบายได้ว่า การจัดการเรียนรู้ตามแนว Cognitive Constructivism หรือเรียกว่า ห้องเรียนแบบเพียเจต์ ผู้เรียนจะมีโอกาสสร้างความรู้ผ่านประสบการณ์ของตนเอง ที่ไม่ใช่มาจากการบอก หรือการสอนจากผู้สอน จะมีการเน้นเกี่ยวกับการสอนทักษะเฉพาะน้อยลง ในทางตรงข้ามจะเพิ่มการเน้นเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ในบริบทที่มีความหมายโดยนำเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อผสม (Multi Media) เป็นสิ่งที่จะสนองตอบต่อกิจกรรมการเรียนรู้ดังกล่าว ด้วยเทคโนโลยีที่มาสนับสนุน ได้แก่ สื่อบนเครือข่าย (Web base) และโซเชียลมีเดีย ผู้สอนสามารถจัดหาสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่จะช่วยขยายพื้นฐานของแนวคิด (Conceptual) และประสบการณ์ (Experiential) ของผู้เรียนเพิ่มเติมได้มากยิ่งขึ้น

ดังนั้น การจัดการเรียนรู้ในบริบทที่มีความหมายจะมีความหมายต่อผู้เรียนก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับความหมายโดยใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่รอบ ๆ ตัวของเขามาเป็นตัวขับเคลื่อน เช่น การแบ่งแบบฝึกทักษะของแบบฝึกหัดโดยตัดตอนออกเป็นส่วนย่อยๆ หรือที่เรียกว่า Clean Teaching หรืออาจจะเน้นไปที่องค์รวมและตามสภาพจริงอย่างเช่น ในรายวิชาคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา ที่เน้นกิจกรรมตามสภาพจริงส่งผลให้ผู้เรียนมีความสนใจ และมีความหมายต่อพวกเขามากกว่าระดับคะแนนหรือคำชมที่ได้รับ

หลักการสำคัญ 2 ประการในการนำทฤษฎีนี้มาใช้ (สุมาลี ชัยเจริญ, 2551)

1. การเรียนรู้ที่เป็นกระบวนการที่ลงมือปฏิบัติ (Learning is Active Process) ผู้สอนควรให้ความสำคัญกับการจัดประสบการณ์ตรงและกระบวนการค้นหาวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการดูดซึม และการปรับเปลี่ยนองค์ความรู้ วิธีการที่ใช้เพื่อนำเสนอสารสนเทศเป็นสิ่งสำคัญเมื่อถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหา

2. การเรียนรู้ควรเป็นองค์รวม เน้นสภาพจริง และสิ่งที่เป็นจริง (Learning Should be Whole, Authentic, and “Real”)

จากแนวคิดข้างต้นนี้กระบวนการเรียนรู้ตามกลุ่มแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองจึงมักเป็นไปในแบบที่ให้ผู้เรียนสร้างความรู้จากการร่วมมือกันแก้ปัญหา (Collaborative problem solving)  กระบวนการเรียน การสอน จะเริ่มต้นด้วยปัญหาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางปัญญา (Cognitive conflict) นั่นคือประสบการณ์และโครงสร้างทางปัญญาที่มีอยู่เดิม ไม่สามารถจัดการแก้ปัญหานั้นได้ลงตัวพอดีเหมือนปัญหาที่เคยแก้มาแล้ว ต้องมีการคิดค้นเพิ่มเติมที่เรียกว่า “การปรับโครงสร้าง” หรือ “การสร้างโครงสร้างใหม่” ทางปัญญา (Cognitive restructuring) โดยการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ถกเถียงปัญหา ซักค้านจนกระทั่งหาเหตุผล หรือหลักฐานในเชิงประจักษ์มาขจัดความขัดแย้งทางปัญญาภายในตนเอง และระหว่างบุคคลได้

การจัดการเรียนรู้ตามตามกลุ่มแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเอง เชื่อว่าผู้สอน ไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางปัญญาของผู้เรียนได้ แต่สามารถช่วยให้ผู้เรียนปรับขยายโครงสร้างทางปัญญา โดยการจัดสภาพการณ์ที่ทำให้เกิดภาวะเสียสมดุล หรือก่อให้เกิดความขัดแย้งทางปัญญาขึ้น ซึ่งก็ คือสภาวะที่โครงสร้างทางปัญญาเดิมใช้ไม่ได้ ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องประสบการณ์มากขึ้นหรือเกิดโครงสร้างทางปัญญาใหม่นั่นเอง

แนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองเชิงปัญญา(Cognitive Constructivism) มี พื้นฐานแนวคิดที่ว่าผู้เรียนแต่ละคนจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด ก็ต่อเมื่อได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบ สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง จะให้โอกาสผู้เรียนในการสร้างองค์ความรู้จากความรู้ที่มาก่อน เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ และความเข้าใจจากประสบการณ์จริง

การเรียนรู้จากวิธีการนี้ ผู้เรียนจะได้รับการส่งเสริมให้ สำรวจถึงความเป็นไปได้ คิดวิธีแก้ปัญหา ทดสอบแนวคิดใหม่ ๆ การร่วมมือกับผู้อื่น การคิดทบทวนปัญหา และ ท้ายที่สุด คือ เสนอวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดที่ตนเองคิดค้นขึ้น

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า การเรียนรู้แบบสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เชื่อว่าความรู้เป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละคนและสิ่งแวดล้อม ที่ผสานรวมกันอย่างลงตัวและมีความเหมาะสม กับผู้เรียนเป็นรายบุคคล ถึงแม้ใช้วิธีสอนที่เหมือนกัน แต่ผู้เรียนอาจ เกิดองค์ความรู้ได้ไม่เท่ากัน อันเนื่องมาจากประสบการณ์เดิมที่ไม่เหมือนกันนั้นเอง

ผู้สอนจึงต้องหมั่นสังเกตุ และหาวิธีการที่เหมาะสมกับผู้เรียนเป็นรายบุคคลเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และสร้างองค์ความรู้ให้ได้มากที่สุดด้วยตนเอง

ดร.อนุศร หงษ์ขุนทด

Comments

comments

ติดต่อ ดร.อนุศร หงษ์ขุนทด
error: Content is protected !!