fbpx
Digital Learning Classroom
การประเมินคุณภาพภายนอกความรู้ทั่วไป

ขั้นตอนการประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)

แชร์เรื่องนี้

การประเมินคุณภาพภายนอก หมายถึง การประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา การติดตาม การตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา โดยผู้ประเมินภายนอกที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) เพื่อเป็นการประกันคุณภาพและให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ผู้ประเมินภายนอกมีความเป็นอิสระ และเป็นกลางไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับการประเมินคุณภาพภายนอกจะนำไปสู่การเข้าถึงคุณภาพการศึกษาด้วยความเป็นกลาง เพื่อสร้างสรรค์พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาอย่างแท้จริง

วัตถุประสงค์ของการประเมินคุณภาพภายนอก

  1. เพื่อตรวจสอบยืนยันสภาพจริงในการดำเนินงานของสถานศึกษา และประเมินคุณภาพการศึกษา ตามมาตรฐานการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพตามกรอบแนวทางและวิธีการที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) กำหนด และสอดคล้องกับระบบประกันคุณภาพภายใน
  2. เพื่อให้ได้ข้อมูลซึ่งช่วยสะท้อนให้เห็นจุดแข็งจุดอ่อนของสถานศึกษา เงื่อนไขของความสำเร็จ และสาเหตุของปัญหา
  3. เพื่อช่วยเสนอแนะแนวทางปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษา
  4. เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพและประกันคุณภาพภายในอย่างต่อเนื่อง
  5. เพื่อรายงานผลการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน

กรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอก

การประเมินคุณภาพภายนอก สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ได้กำหนดกรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกไว้ 2 ส่วน ได้แก่ การประเมินคุณภาพมาตรฐาน และการประเมินความโดดเด่น โดยมีรายละเอียดการพิจารณาดังนี้

ส่วนที่ 1 การประเมินคุณภาพมาตรฐาน

เป็นการประเมินตามพันธกิจและบริบทของสถานศึกษา โดยเชื่อมโยงกับการประกันคุณภาพภายใน และประเด็นที่ได้รับแจ้งจากหน่วยงานต้นสังกัด หรือหน่วยงานที่กำกับดูแล ดังนี้

แนวทางพิจารณาคุณภาพ
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ได้กำหนดแนวทางพิจารณาคุณภาพในการประเมินคุณภาพภายนอกไว้ดังนี้

1. ความเหมาะสม เป็นไปได้ (Propriety/Feasibility) หมายถึง การกำหนดเป้าหมาย/เกณฑ์ ความสำเร็จ ของผู้เรียนมีความเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา และมีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติจริง ประหยัด และคุ้มค่า

2. ความเป็นระบบ (Systematic) หมายถึง กระบวนการดำเนินงานด้านการบริหารและการจัดการด้านการจัดการเรียนรู้ ที่เกิดจากการคิดอย่างเป็นกระบวนการ โดยพิจารณาจากตัวอย่าง เช่น กระบวนการ 5W1H ว่า

ใคร (Who) คือ ใครรับผิดชอบ ใครเกี่ยวข้อง ใครได้รับผลกระทบ ในเรื่องนั้นมีใครบ้าง

ทำอะไร (What) คือ เราจะทำอะไร มีใครทำอะไรบ้าง

ที่ไหน (Where) คือ สถานที่ที่เราจะทำว่าจะทำที่ไหน เหตุการณ์หรือสิ่งที่ทำนั้นอยู่ที่ไหน

เมื่อใด (When) คือ ระยะเวลาที่จะทำจนถึงสิ้นสุด เหตุการณ์นั้นทำเมื่อวัน เดือน ปี ใด

ทำไม (Why) คือ สิ่งที่เราจะทำนั้น ทำด้วยเหตุผลใด เหตุใดจึงได้ทำสิ่งนั้น

อย่างไร (How) คือ สิ่งที่เราต้องรู้ว่า เราจะสามารถทำทุกอย่างให้บรรลุผลได้อย่างไร เหตุการณ์หรือสิ่งที่ทำนั้นทำอย่างไรบ้าง หรืออาจจะเป็นกระบวนการ PDCA คือ การวางแผน (Plan) การปฏิบัติตามแผน (DO) การตรวจสอบ (Check) และการปรับปรุงการดำเนินการอย่างเหมาะสม (Act) เป็นต้น

3. ความเชื่อถือได้ (Validity/Credibility) หมายถึง กระบวนการประเมินคุณภาพการศึกษา ที่เกิดจากผู้เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียการวิเคราะห์ความเชื่อถือได้มาจากการใช้เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลที่หลากหลายใช้หลักฐานหรือสารสนเทศเชิงประจักษ์ หรือมีข้อมูลจากหลายแหล่งในการตัดสินผลการดำเนินงาน ซึ่งรวมทั้งข้อมูลสารสนเทศหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลที่ง่ายแก่การตรวจสอบและข้อมูลที่อาจไม่ได้อยู่ในระบบฐานข้อมูล แต่เกิดขึ้นตามสภาพจริง โดยผลการประเมินคุณภาพการศึกษาในด้านนั้น ๆ เมื่อตรวจสอบจากหลักฐานเชิงประจักษ์มีความตรงตามสภาพจริง เหมาะสมชัดเจน เป็นที่ยอมรับได้

4. ประสิทธิผล (Effectiveness) หมายถึง ผลที่เกิดขึ้นของการปฏิบัติตามแผนการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ อันเป็นผลที่เกิดต่อผู้เรียน ต่อโรงเรียน ต่อศูนย์พัฒนาเด็ก หรือต่อวงวิชาการ ซึ่งผลการดำเนินงานมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีนวัตกรรมและเป็นแบบอย่างที่ดี

5. นวัตกรรม (Innovation) หมายถึง แนวคิดหรือวิธีการที่นำมาใช้ในการปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหา หรือเพื่อการพัฒนา ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด กระบวนการ หรือองค์กร อย่างสิ้นเชิงหรือ อย่างเห็นได้ชัดเป็นการพัฒนาต่อยอด เพิ่มมูลค่า มีเป้าหมายในเชิงบวก ซึ่งมีเกณฑ์การพิจารณา คือ

มีความสร้างสรรค์ (C – Creative)

มีความใหม่ในบริบทนั้น ๆ (N – New)

มีคุณค่ามีประโยชน์ (V – Value Added)

ปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม (A – Adaptive)

6. เป็นแบบอย่างที่ดี (Best Practice) หมายถึง รูปแบบวิธีปฏิบัติหรือขั้นตอนการปฏิบัติที่ทำให้สถานศึกษาประสบความสำเร็จ หรือสู่ความเป็นเลิศตามเป้าหมาย เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการหรือวิชาชีพ มีหลักฐานของความสำเร็จปรากฏชัดเจน โดยมีการสรุปรูปแบบวิธีปฏิบัติหรือขั้นตอนการปฏิบัติ ตลอดจนความรู้และประสบการณ์ มีร่องรอยหลักฐานเชิงประจักษ์ เผยแพร่ให้หน่วยงานภายในหรือภายนอกสามารถนำไปใช้ประโยชน์

วิธีการประเมินคุณภพภายนอก

การประเมินคุณภาพภายนอกเป็นการประเมินเชิงคุณภาพ เน้นหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence Based) ที่สะท้อนผลลัพธ์การดำเนินงาน โดยใช้การตัดสินใจของผู้เชี่ยวชาญ (Expert Judgment) และการตรวจทาน ผลการประเมินโดยคณะกรรมการประเมินในระดับเดียวกัน (Peer Review) ให้ครอบคลุมองค์ประกอบทั้งระบบแบบองค์รวม (Holistic Approach)

ขั้นตอนการประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)

ที่มา : การเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาเพื่อรับการประเมินคุณภาพภายนอก หน้า 17

1. สถานศึกษาประเมินตนเอง (Self-Assessment)แล้วจัดส่งรายงานการประเมินตนเองให้หน่วยงานต้นสังกัดวิเคราะห์ SAR ส่งให้ สมศ.

2. สมศ. วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา (Pre-Analysis) จากฐานข้อมูล ของหน่วยงานต้นสังกัด

3. คณะผู้ประเมินภายนอกประชุมพิจารณาผลการดำเนินงานของสถานศึกษา ร่วมกับวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน (Pre-Assessment) เพื่อวางแผนการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม

4. คณะผู้ประเมินภายนอกลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม (Site Visit) เพื่อประชุมเสวนาสร้างสรรค์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพกับบุคลากร หลักฐานเชิงประจักษ์ และหน่วยงาน บุคคลที่มีเกี่ยวข้องเพิ่มเติม รวมทั้งทำรายงานผลประเมินด้วยวาจา

5. คณะผู้ประเมินภายนอกจัดทำรายงานผลการประเมินคุณภาพภายนอก (EQA Report) พร้อมข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการศึกษา แล้วจัดส่งให้ สมศ. เพื่อพิจารณาให้การรับรองผลการประเมิน จากนั้น สมศ. จะจัดส่งให้กับสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด

ที่มา : การเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาเพื่อรับการประเมินคุณภาพภายนอก

Comments

comments

ติดต่อ ดร.อนุศร หงษ์ขุนทด
error: Content is protected !!