เมื่อ…ครูต้องสอนแบบออนไลน์
การระบาดของโรคโควิด – 19 ทำให้หลายมหาวิทยาลัยต้องออกมาตรการ งดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย แล้วจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ เพื่อไม่ต้องให้นิสิตนักศึกษาเดินทางมาเรียน หรือต้องมารวมกลุ่มกัน
“การหยุดเรียน ปิดสถานศึกษา” เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ด้วยความไม่แสดงอาการของผู้ติดเชื้อ หรือผู้สัมผัส รวมถึงไม่ได้กักตัวเองตามการคำแนะนำการปฏิบัติตัวของการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในกลุ่มคนหมู่มาก แม้จะใกล้ช่วงเปิดเทอมของนักเรียน นิสิตนักศึกษา แต่ก็มีสถานศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยหลายแห่งทยอยงดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย แล้วจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ เพื่อไม่ต้องให้นิสิตนักศึกษาเดินทางมาเรียน หรือต้องมารวมกลุ่มกัน
จึงเกิดคำถามตามมาว่า…เมื่อ…ครูต้องสอนแบบออนไลน์ควรจะ..ทำแบบไหนดี?
รูปแบบการเรียนการสอนแบบผสมผสานโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยโครงงาน จึงเป็นอีก 1 วิธีที่อยากมานำเสนอให้ทุกท่านได้ลองศึกษาและนำไปใช้กันครับ
หลัการ คือ การนำเอาวิธีการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Blended Learning) ตามแนวทางของห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom) มาเป็นแนวทางเพื่อบริหารจัดการกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาต่าง ๆ
โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยโครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) เป็นแนวทางในการส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น การพัฒนานวัตกรรม โดยผ่านเทคโนโลยีบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย
เช่น เครื่องมือจากกูเกิลเพื่อการศึกษา (Google Apps for Education) หรือ office 365 ในการเป็นสื่อกลาง เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน และเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยมีขั้นตอนการออกแบบการสอน ดังนี้

จากภาพที่สามารถอธิบายขั้นตอนการเรียนการสอน โดยแบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. การเรียนรู้ในห้องเรียน (Classroom) สามารถสรุปเป็น 2 กิจกรรม คือ
กิจกรรมของผู้สอน 7 ขั้นตอนการสอนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยโครงงาน เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ตามแนวทางการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ของผู้เรียน
กิจกรรมของผู้เรียนกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก โดยใช้โครงงานเป็นฐาน 6 ขั้นตอน
กิจกรรมของผู้สอน 7 ขั้นตอน
กิจกรรมของผู้สอน 7 ขั้นตอนการสอนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยโครงงาน เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ตามแนวทางการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ของผู้เรียนสามารถอธิบายได้ ดังนี้

ขั้นนำ
1. ผู้สอนแจ้งวัตถุประสงค์ของการทำโครงงาน ระดับการเรียนรู้ หรือพฤติกรรมการเรียนรู้ที่คาดหวังแก่ผู้เรียน
2. ผู้สอนชี้แจงสาระของบทเรียน และความสัมพันธ์กับความรู้ และประสบการณ์เดิมอย่างคร่าว ๆ
3. ผู้สอนชี้แจงกระบวนการเรียนรู้และหน้าที่รับผิดชอบของผู้เรียนในแต่ละขั้นตอน
4. สร้างสถานการณ์ที่ใช้ในการกระตุ้นความสนใจและความต้องการในการแสวงหาความรู้และฝึกปฏิบัติ
5. การเตรียมความพร้อมของวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือกิจกรรมการเรียนรู้
ขั้นนำเสนอบทเรียน
1. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในชั้นเรียน โดยลงมือกระทำมากกว่าการนั่งฟังเพียงอย่างเดียว
2. ลดการถ่ายทอดความรู้จากผู้สอนสู่ผู้เรียนให้น้อยลง และพัฒนาทักษะ การคิด สงสัย และนำไปแก้ปัญหาให้เกิดกับผู้เรียน
3. ผู้เรียนมีส่วนในกิจกรรม เช่น อ่านอภิปราย และเขียน
4. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเลือกกิจกรรม
5. หากเป็นการนำเสนอเนื้อหาสาระ ข้อความรู้ ผู้สอนควรกลั่นกรอง และนำเสนออย่างชัดเจนพร้อมทั้งอธิบาย และยกตัวอย่างประกอบให้ผู้เรียนเข้าใจ
6. ตรวจสอบว่าผู้เรียนมีความเข้าใจตรงตามวัตถุประสงค์ก่อนให้ผู้เรียนลงมือสร้างชิ้นงาน หากผู้เรียนยังไม่เข้าใจ ต้องสอนซ่อมเสริม หรืออธิบายให้เข้าใจก่อน
7. ผู้เรียนรับรู้วัตถุประสงค์ในสิ่งที่จะลงมือสร้างชิ้นงาน
ขั้นสาธิตทักษะและฝึกปฏิบัติตามแบบ
1. ผู้สอนปฏิบัติให้ผู้เรียนดูเป็นตัวอย่าง ผู้เรียนปฏิบัติตาม ผู้สอนให้ข้อมูล ป้อนกลับให้การเสริมแรง หรือแก้ไขข้อผิดพลาดของผู้เรียน
2. ผู้สอนเปิดโอกาสแก่ผู้เรียนในการตอบสนองต่อสิ่งที่รับรู้ ซึ่งอาจใช้วิธีการให้ผู้เรียนเลียนแบบการกระทำ หรือการแสดงทักษะนั้น หรืออาจใช้วิธีการให้ผู้เรียนลองผิดลองถูก จนกระทั่งสามารถตอบสนองได้อย่างถูกต้อง
3. สาธิตเนื้อหา หรือการปฏิบัติให้ผู้เรียนดูทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ
4. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนในการเสนอแนวทางการทำงานของตนเอง หรือการฝึกปฏิบัติเพื่อเป็นการตอบสนองต่อสิ่งที่รับรู้
5. ผู้เรียนจะสามารถบอกได้ว่า ขั้นตอนหลักของการทำงานตามภารกิจมีอะไรบ้าง
6. ผู้เรียนสังเกตการกระทำจากการสาธิตก่อให้เกิดการเลียนแบบที่เป็นขั้นตอนเพื่อให้ผู้เรียนต้องการเรียนรู้
ขั้นการให้ลงมือปฏิบัติ
แนวทางการสอน
1. ผู้เรียนต้องได้รับการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การประเมินค่าซึ่งมุ่งลดกระบวนการถ่ายทอดสารสนเทศให้กับผู้เรียน
2. ผู้เรียนต้องได้รับการบ่มเพาะพัฒนาคุณธรรม เจตคติ และคุณค่าที่มีอยู่ในตัวผู้เรียนรวมทั้งบ่มเพาะด้านสุนทรียภาพ
3. เน้นการสำรวจเจตคติ และคุณค่าที่มีอยู่ในตัวของผู้เรียเอง
4. กิจกรรมการเรียนการสอนที่พัฒนาศักยภาพทางสมอง ได้แก่การคิด การแก้ปัญหา และการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
5. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนทั้งในด้านการสร้างองค์ความรู้การสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันร่วมมือกันมากกว่าการแข่งขัน
6. ผู้เรียนเรียนรู้ความรับผิดชอบร่วมกันการมีวินัยในการทำงานการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
7. กิจกรรมการเรียนการสอนควรเน้นทักษะการคิดขั้นสูง
8. ควรเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนบูรณาการข้อมูลข่าวสาร หรือสารสนเทศ และหลักการความคิดรวบยอด
9. ผู้สอนจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติด้วยตนเอง
10. ผู้เรียนได้สื่อสารเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังทำกับผู้อื่น
11. การประเมินการบริหารจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน
12. กำหนดการประจำวันที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอน ผู้เรียน เนื้อหาการจัดการเรียนการสอน
13. กระบวนการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างชิ้นงาน
ขั้นการให้ลงมือปฏิบัติ สามารถแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. ผู้เรียนสามารถศึกษา และสร้างชิ้นงานได้เองจากโดยที่ไม่ต้องการคำแนะนำจากผู้สอน มีขั้นตอนดังนี้
- 1.1 แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มย่อย 3-4 คน
- 1.2 ผู้เรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันวางแผนในการแสวงหาวิธีการสร้างชิ้นงาน
- 1.3 ใช้วิธีการให้ผู้เรียนลองผิดลองถูก จนกระทั่งสามารถตอบสนองได้อย่างถูกต้อง
- 1.4 ลงมือสร้างชิ้นงานตามคำสั่งเพื่อให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ในการลงมือทำ และค้นพบปัญหาต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้เกิดการเรียนรู้และปรับการกระทำให้ถูกต้องสมบูรณ์
- 1.5 ลงมือกระทำจนกลายเป็นกลไกที่สามารถกระทำได้เอง ให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการสร้างชิ้นงาน และเกิดความเชื่อมั่นในการทำสิ่งนั้น ๆ
- 1.6 ผู้สอนทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการทำงาน
2. ขั้นฝึกปฏิบัติภายใต้การกำกับของผู้ชี้แนะ ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนย่อยของขั้นการให้ลงมือปฏิบัติ โดยที่ผู้เรียนลงมือสร้างชิ้นงานด้วยตนเอง แต่ยังไม่สามารถ สร้างชิ้นงานได้ด้วยตนเองต้องอาศัยเพื่อนหรือมีผู้สอนคอยดูแล
ดังนั้นขั้นตอนนี้ผู้สอนจะสามารถประเมินการเรียนรู้และความสามารถของผู้เรียนได้จากความสำเร็จ และความผิดพลาดของการสร้างชิ้นงานของผู้เรียนและให้ความช่วยเหลือผู้เรียน โดยให้ ข้อมูลป้อนกลับเพื่อให้ผู้เรียนแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ
- 2.1 ผู้เรียนลงมือสร้างชิ้นงานโดยไม่มีการสาธิต หรือมีแบบอย่างให้ดู
- 2.2 ผู้เรียนเชื่อมโยงทักษะย่อย ๆ เป็นทักษะที่สมบูรณ์
- 2.3 เมื่อผู้เรียนสามารถสร้างชิ้นงานแต่ละส่วนได้แล้ว จึงให้ผู้เรียนสร้างชิ้นงานต่อเนื่องกันตั้งแต่ต้นจนจบ
- 2.4 ผู้สอนควรให้คำชี้แนะและช่วยแก้ไขจนกระทั่งผู้เรียนทำได้
- 2.5 เทคนิควิธีการ เมื่อผู้เรียนสร้างชิ้นงานได้แล้ว ผู้สอนอาจแนะนำเทคนิควิธีการที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำงานนั้นได้ดีขึ้น
ขั้นการฝึกปฏิบัติอย่างอิสระ
หลังจากที่ผู้เรียนสามารถสร้างชิ้นงานตามขั้นการให้ลงมือปฏิบัติได้ถูกต้องประมาณ 85 – 90 % แล้ว ผู้สอนควรปล่อยให้ผู้เรียนสร้างชิ้นงานต่อไปอย่างอิสระ
เพื่อช่วยให้เกิดความชำนาญ และการเรียนรู้อยู่คงทน ผู้สอนไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลป้อนกลับในทันที สามารถให้ภายหลังได้ การฝึกในขั้นนี้ไม่ควรทำติดต่อกันในครั้งเดียว
ควรมีการฝึกเป็นระยะ ๆ เพื่อช่วยให้การเรียนรู้อยู่คงทนขึ้น ดังนี้
1. ผู้เรียนมีส่วนร่วม โดยเน้นให้เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้
2. ผู้เรียนเรียนรู้แบบรวมพลัง หมายถึงให้ทุกคนได้คิด ทุกคนทำงานเดี่ยว และทุกคนร่วมทำงานกลุ่ม ครูเปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่มีความสามารถ หรือมีความถนัดมากกว่าช่วยเหลือผู้เรียนที่มีความสามารถ และความถนัดน้อย
3. ผู้เรียนทุกคนร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสร้างชิ้นงาน ทำงานอย่างมีชีวิตชีวาอย่างตื่นตัว
4. ผู้เรียนได้พัฒนาการคิดระดับสูงในการวิเคราะห์สังเคราะห์ และประเมินผลการนำไปใช้
5. ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ และจัดระบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง
6. เป็นกระบวนการสร้างสถานการณ์ให้ผู้เรียนอ่านพูดฟังคิดอย่างลุ่มลึกผู้เรียนจะเป็นผู้จัดระบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ขั้นการปรับปรุง
1. ผู้เรียนพัฒนาการคิดระดับสูงในการวิเคราะห์สังเคราะห์ และประเมินผลการนำไปใช้
2. ทั้งผู้เรียนและผู้สอนรับข้อมูลป้อนกลับจากการสะท้อนความคิดได้อย่างรวดเร็ว
3. กลวิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง (Choices for Children)
4. การปรับปรุงเป็นขั้นที่ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาปรับปรุงทักษะ หรือการปฏิบัติของตนให้ดียิ่งขึ้นและประยุกต์ใช้ทักษะที่ตนได้รับการพัฒนาในสถานการณ์ต่าง ๆ ตามความสามารถ และอิสระในการเรียนรู้ของผู้เรียน
5. ผู้เรียนสามารถเข้ารับการประเมินผลการสร้างชิ้นงานได้ตลอดเวลา หรือกี่ครั้งก็ได้ตามความต้องการจนกว่าจะผ่านเกณฑ์ที่กำหนดตามเนื้อหาหรือกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมาย ในขณะทำกิจกรรมในห้องเรียน
ขั้นการคิดริเริ่มและประยุกต์ใช้
ในขั้นตอนนี้ผู้เรียนจะเริ่มเกิดความคิดใหม่ ๆ ในการสร้างชิ้นงาน หรือปรับกระบวนการทำงานให้เป็นไปตามที่ผู้เรียนต้องการ ดังนั้นผู้สอนควรให้ความสนใจ และจัดกิจกรรมเพิ่มเติมจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในห้อง
โดยให้การสนับสนุนกับผู้เรียนได้แสดงออกในสิ่งที่ผู้เรียนฝึกปฏิบัติได้ หรือให้แนะนำเพื่อน ๆ ในห้องเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคหรือวิธีการที่ตนเองประสบผลสำเร็จ ดังนี้
1. ผู้สอน และผู้เรียนร่วมกันอภิปรายเพื่อหาแนวทางเทคนิคการทำงานเพิ่มเติม สำหรับใช้ทำงานในครั้งต่อไป
2. ผู้เรียน และผู้สอนรับข้อมูลป้อนกลับจากการสะท้อนความคิดร่วมกัน
3. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความสามารถ และนำเสนอเทคนิควิธีการปฏิบัติที่นอกเหนือจากภารกิจ หรือกิจกรรมที่มอบหมาย
4. ผู้เรียนสามารถนำผลจากการปฏิบัติ หรือการเรียนรู้ ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย
5. ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันอภิปรายวางแผนการจัดกิจกรรมในครั้งต่อไป
กิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกของผู้เรียน
กิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกของผู้เรียนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน แบ่งขั้นตอนการเรียนรู้ออกเป็น 6 ขั้นตอน สามารถอธิบายได้ดังนี้

1. ขั้นนำเสนอหัวข้อ
2. ขั้นการวางแผนกิจกรรม
3. ขั้นการทำโครงงาน
4. ขั้นการสรุปผล
5. ขั้นการนำเสนอโครงงาน
6. ขั้นการประเมินผล
2. การเรียนรู้นอกห้องเรียน (Homework) ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ บนระบบออนไลน์ (Online)
ที่มีการส่งผ่านเนื้อหา หรือแหล่งเรียนรู้ (Logistics Media) ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก โดยใช้โครงงานเป็นฐาน แบ่งขั้นตอนการเรียนรู้ออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

2.1 กำหนดเป้าหมายในการทำโครงงาน ผู้สอนจะต้องออกแบบกิจกรรม หรือภาระงาน โดยผู้เรียนจะต้องทราบเป้าหมายของตนเองในแต่ละสัปดาห์ โดยการกำหนด ประเด็นการศึกษาเรียนรู้และการทำโครงงานของตนเอง และผู้เรียนต้องทำการสรุปผล หรือประเด็นต่าง ๆ หรือข้อคำถามหลังจากที่ได้เรียนรู้จากสื่อ หรือคลิปวิดีโอการบรรยายจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ พร้อมทั้งทำโครงงาน ตามที่ได้รับมอบหมาย รวมไปถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมาย
ส่วนผู้สอนควรออกแบบการสอนในปริมาณที่เหมาะสม และคำนึงถึงความยากง่ายของกิจกรรม ซึ่งควรใช้ “พื้นที่รอยต่อพัฒนาการ” (Zone of Proximal Development) เพื่อช่วยให้ผู้เรียนบรรลุผลในการเรียนที่สามารถแปลงจากความรู้เดิมเป็นองค์ความรู้ใหม่
นอกจากนี้ผู้สอนควรประยุกต์ใช้เครื่องมือของกูเกิ้ลเพื่อการศึกษา ให้เหมาะสมกับกิจกรรม เพื่อให้การเรียนรู้ หรือการสื่อสารออนไลน์ ให้มีความสมบูรณ์ และช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ตามภาระกิจในแต่ละสัปดาห์
2.2 สร้างชิ้นงานบนสื่อออนไลน์ ผู้สอนต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ด้วยเครื่องมือของกูเกิ้ลเพื่อการศึกษา ในการบันทึกเนื้อหาในการบรรยาย แล้วทำการอับโหลดไฟล์เข้าสู่ระบบต่าง ๆ ผ่านสมาร์ทโฟน แทบเล็ต คอมพิวเตอร์ และG Suite เช่น Docs, Slide, Sheet, Classroom, Forms, Calendar, Mail, Site
เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างนวัตกรรมจากโครงงาน เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความสะดวก และง่ายในการเข้าถึงเนื้อหาความรู้สำหรับการเรียนได้ด้วยตนเอง ผู้เรียนสามารถใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อการเรียนรู้ และทำโครงงานร่วมกันกับเพื่อนในห้องเรียน
2.3 การทำงานร่วมกันแบบออนไลน์ ผู้สอนจะต้องออกแบบกิจกรรม ให้สอดคล้องกับการเลือกใช้ สมาร์ทโฟน แทบเล็ต คอมพิวเตอร์ และG Suite เช่น Docs, Slide, Sheet, Classroom, Forms, Calendar, Mail, Site
เพื่อเป็นช่องทางในการส่งผ่านเนื้อหาความรู้ สำหรับการอภิปราย ในระหว่างการทำโครงงาน เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความสะดวก และง่ายในการเข้าถึงชิ้นงาน ต้องสามารถรองรับการทำงานได้ทั้งผู้สอน และผู้เรียน เพื่อให้สามารถพิมพ์ข้อความต่าง ๆ ลงในฟอรั่ม (Forum) ของเครื่องมือของกูเกิ้ล
เพื่อการศึกษา เพื่ออำนวยความสะดวกในการอภิปราย และการมีปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มของผู้เรียน ถือได้ว่าการพบปะพูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์
ผู้สอนจะต้องออกแบบกิจกรรมที่ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาความสามารถในการคิดของผู้เรียน
เพื่อการส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพ ในด้านของทักษะการสื่อสาร และความสามารถในการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เช่น กระดานข้อความและห้องสนทนาในการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนในห้องจากที่บ้าน
3. เวลา (Time) ในการให้ความช่วยเหลือ (Scaffolding)
ผู้สอนทำการนัดหมายเวลาร่วมกันในการจัดกิจกรรมของผู้สอนกับผู้เรียน (Teacher – Learner) โดยผู้สอนต้องกำหนดเวลา และเลือกช่วงเวลาที่ผู้สอนและผู้เรียน สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้โดยสะดวก ผ่านสมาร์ทโฟน เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ตต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือ (Scaffolding) ผู้เรียน
โดยใช้กูเกิ้ลเพื่อการศึกษา (Google apps For Education) เพื่อเป็นช่องทางการส่งผ่านสื่อ (Logistics Media) หลักในการทำกิจกรรมระหว่าง ผู้สอนและผู้เรียน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มเครื่องมือ ดังนี้

- 3.1 แอพพลิเคชันลักษณะการเชื่อมโยงหากัน (Connect) ด้วย แฮงเอาท์ (Hangouts) กูเกิลพลัส (Plus) ปฏิทิน (Google Calendar) กูเกิลเมล์ (Gmail)
- 3.2 แอพพลิเคชันลักษณะการสร้างงาน (Create) ด้วยกูเกิลเอกสาร (Docs) ไซด์ (Sites) ชีต (Sheets) สไลด์ (Slide) ฟอร์ม (Forms) วาดเขียน ไดอะแกรมและผังการทำงาน (Drawings)
- 3.3 แอพพลิเคชันลักษณะการบริหารจัดการ (Access) ไดร์ฟ (Drive) ห้องเรียน (Google Classroom)
- 3.4 แอพพลิเคชันลักษณะการควบคุม (Control) ด้วยผู้ดูแลระบบ (Admin) ที่ลงชื่อเข้าใช้คอนโซลผู้ดูแลระบบ (Mobile Management) ด้วยการลงชื่อเข้าใช้บริการทั้งหมดในครั้งเดียว
ถ้ามีความสนใจในรายละเอียดสามารถสอบถามมาได้นะครับ และหากนำไปอ้างอิงทางวิชาการโปรดอ้างอิงตามนี้ครับ
อนุศร หงษ์ขุนทด. (2561). รูปแบบการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ตามแนวคิดทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยโครงงาน เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มสาระการงานอาชีพ และเทคโนโลยี, โรงเรียนด่านขุนทด.

ดร.อนุศร หงษ์ขุนทด
Comments
Powered by Facebook Comments