fbpx
Digital Learning Classroom
วิทยะฐานะ

แนวทางการเก็บงานตามตัวชี้วัดที่ 1.4 การวัดและประเมินผลการเรียนรู้

แชร์เรื่องนี้

ตัวชี้วัดที่ 1.4 การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ หมายถึง กระบวนการที่ได้มาซึ่งข้อมูลสารสนเทศที่เป็นผลมาจากการจัดการเรียนรู้ เพื่อปรับปรุงพัฒนา ตัดสินผลการเรียนรู้ ความก้าวหน้าและพัฒนาการของผู้เรียนที่สะท้อนระดับคุณภาพของผู้เรียน โดยใช้วิธีการ เครื่องมือวัดและประเมินผลที่หลากหลาย เหมาะสมและสอดคล้องกับมาตฐานการเรียนรู้ และจุดประสงค์การเรียนรู้

          ในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กำหนดระดับของการดำเนินงานไว้เป็น 4 ระดับ (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2557) ดังนี้

1. การวัดและประเมินระดับชั้นเรียน

2. การวัดและประเมินระดับสถานศึกษา

3. การวัดและประเมินระดับเขตพื้นที่การศึกษา

4. การวัดและประเมินระดับชาติ

ระดับที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้สอนมากที่สุด และเป็นหัวใจของการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ผู้เรียน คือ การวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียน ซึ่ง การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ มีความหมายและเกี่ยวข้องกับคำ 3 คำดังนี้

การวัด (Measurement) หมายถึง การกำหนดตัวเลขให้กับวัตถุ สิ่งของ เหตุการณ์ปรากฏการณ์ หรือพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้เรียน รวมถึงการวัดคุณลักษณะ (attribute) ของบุคคลจากผลการตอบคําถามในแบบทสอบตามกฏเกณฑ์ที่กําหนด เพื่อแสดงคุณค่าเชิงปริมาณ หรือตัวเลขที่วัดได้การวัดผล

การจะได้มาซึ่งตัวเลขนั้น อาจต้องใช้เครื่องมือวัด เพื่อให้ได้ตัวเลข ที่สามารถแทนคุณลักษณะต่าง ๆ ที่ต้องการวัด เช่น การทดสอบ (testing) ที่หมายถึง การนําเสนอชุดคําถามที่เรียกว่าข้อสอบ หรือแบบทดสอบที่มีมาตรฐานให้ผู้สอบตอบ

การประเมิน (Assessment) หมายถึง กระบวนการเก็บข้อมูล ตีความ บันทึก และใช้ข้อมูลเกี่ยวกับคำตอบของผู้เรียน ที่ทำในภาระงาน/ชิ้นงาน ว่าผู้เรียนรู้อะไร สามารถทำอะไรได้ และจะทำต่อไปอย่างไรด้วยวิธีการและเครื่องมือที่หลากหลาย

นอกจากใช้แบบทดสอบแล้วยังรวมถึงการใช้เครื่องมืออื่นเพื่อ รวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณ หรือเชิงคุณภาพด้วย เช่น การสังเกตพฤติกรรม การสัมภาษณ์ การตรวจผลงานต่าง ๆ ที่ กําหนดให้ผู้ประเมินทํา

การประเมินค่า การตัดสิน (Evaluation) หมายถึง การนำเอาข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการวัดหลาย ๆ อย่างมาเป็นข้อมูลในการตัดสินผลการเรียน โดยการเปรียบเทียบกับเกณฑ์ (Criteria) ที่สถานศึกษากำหนดเพื่อประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนว่าผู้เรียนมีความเก่งหรืออ่อนเพียงใด บรรลุเป้าหมาย ที่ต้องการมากน้อยเพียงใดซึ่งคือการสรุปผลการเรียนนั่นเอง

แนวทาง การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ นี้ควรมีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ดังนี้

แนวคิดการประเมินผลทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ต้องอยู่บนจุดมุ่งหมายพื้นฐาน 2 ประการ (ศศิธร บัวทอง, 2560) ดังนี้

          1. การวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลการเรียน และการเรียนรู้ของผู้เรียนในระหว่างการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องด้วยการบันทึก และวิเคราะห์เพื่อแปลความหมายข้อมูลแล้วนำมาใช้ในการส่งเสริม หรือปรับปรุงแก้ไขการเรียนรู้ของผู้เรียน และการสอนของครู

ดังนั้น…การวัดและประเมินผลกับการสอนจึงเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน หากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดการเรียนการสอนก็ขาดประสิทธิภาพ การประเมินระหว่างการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ลักษณะนี้ เป็นการวัดและประเมินผลย่อย (Formative Assessment) ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนทุกวัน เป็นการประเมินเพื่อให้รู้จุดเด่น จุดที่ต้องปรับปรุงจึงเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการพัฒนาในการให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียน สำหรับการปรับปรุงพัฒนาดูความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรคในการเรียน เน้นลักษณะการประเมินเพื่อ การเรียนรู้ (Assessment for Learning) มากกว่าการประเมินเพื่อสรุปผลการเรียนรู้ (Assessment of Learning)

          มีผลการวิจัยระบุว่า การให้ข้อมูลย้อนกลับด้วยคำพูดจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา ในการเก็บข้อมูล ผู้สอนต้องใช้วิธีการ และเครื่องมือการประเมินที่หลากหลาย เช่น การสังเกต การซักถาม การระดมความคิดเห็น เพื่อให้ได้มติข้อสรุปของประเด็นที่กำหนด การใช้แฟ้มสะสมงาน การใช้ภาระงานที่เน้นการปฏิบัติการประเมินความรู้เดิม การให้ผู้เรียน ประเมินตนเอง การให้เพื่อนประเมินเพื่อน และการใช้เกณฑ์การให้คะแนน (Rubrics)

          สิ่งสำคัญที่สุดในการประเมินเพื่อพัฒนา คือ การให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียนในลักษณะคำแนะนำที่เชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ทำให้การเรียนรู้พอกพูน แก้ไขความคิด ความเข้าใจเดิมที่ไม่ถูกต้อง ตลอดจนการให้ผู้เรียนสามารถตั้งเป้าหมาย และพัฒนาตนได้จุดมุ่งหมาย

2. การวัด และประเมินผลเพื่อตัดสินผลการเรียน เป็นการประเมินสรุปผลการเรียนรู้ (Summative Assessment) ซึ่งมีหลายระดับ ได้แก่ เมื่อเรียนจบหน่วยการเรียน จบรายวิชาเพื่อตัดสินให้คะแนน หรือให้ระดับผลการเรียน ให้การรับรองความรู้ความสามารถของผู้เรียนว่าผ่านรายวิชาหรือไม่ ควรได้รับการเลื่อนชั้นหรือไม่ หรือสามารถจบหลักสูตรหรือไม่ ในการประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียนที่ดีต้องให้โอกาสผู้เรียนแสดงความรู้ความสามารถด้วยวิธีการที่หลากหลายและพิจารณาตัดสินบนพื้นฐานของเกณฑ์ผลการปฏิบัติมากกว่าใช้เปรียบเทียบระหว่างผู้เรียน

การวัดและประเมินทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นั้น ไม่ได้ใช้เพื่อการชี้ว่าสอบได้ หรือสอบตก แต่ผู้สอนควรใช้เพื่อการประเมินความก้าวหน้าของพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อให้เกิดสมดุลเชิงคุณภาพที่สอดคล้องพัฒนาดีขึ้นไปทิศทางเดียวกัน ทั้งด้านความรู้ความสามารถ ด้านทักษะการทำงาน ด้านเจตคติและบุคลิกภาพต่อการทำงาน

ดังนั้นจึงควรนำผลการวัดมาประเมินความสอดคล้องกันทั้ง 3 ด้าน จะมีความขัดแย้งด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ ถือเป็นความผิดปกติที่ผู้สอนจำเป็นต้องหาวิธีการแก้ไข เพื่อเร่งส่งเสริมด้านที่ไม่พัฒนาให้มีพัฒนาการดีขึ้น โดยอาจใช้กระบวนการ PLC (Professional Learning Community) เพื่อหาสาเหตุ และพัฒนาร่วมกัน กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อหาทางออก จึงจะเป็นการประเมินแบบสมดุลเชิงคุณภาพ (สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย, ม.ป.ป.)

แนวทางการประเมินทักษะในศตวรรษที่ 21 (Assessment of 21st Century Skills)

สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีจุดเน้นด้านคุณภาพ ควรมีลักษณะ (สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย, ม.ป.ป.) ดังนี้

          1. สร้างความสมดุลในการประเมินผลเชิงคุณภาพ โดยการใช้แบบทดสอบมาตรฐาน สำหรับการทดสอบย่อย และทดสอบรวมให้ใช้ในการประเมินผลในชั้นเรียน ส่วนแบบทดสอบมาตรฐานนั้น สามารถแบ่งจุดมุ่งหมายในการใช้ประโยชน์ได้ 3 ประเภท ดังนี้

             1.1 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ (Achievement Test) เป็นแบบทดสอบที่ใช้วัดปริมาตรความรู้ความสามารถ ทักษะเกี่ยวกับด้านวิชาการที่ได้เรียนรู้มาว่ารับรู้ไว้ได้มากน้อยเพียงไร

             1.2 แบบทดสอบความถนัด (Aptitude Test) เป็นแบบทดสอบที่ใช้วัดความสามารถที่เกิดจากการสะสมประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาในอดีต ส่วนมากใช้ในการทำนายสมรรถภาพของบุคคลว่าสามารถเรียนไปได้ไกลเพียงไร โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อพยากรณ์อนาคตข้อเท็จจริงทั้งในปัจจุบัน และประสบการณ์ในอดีต ใช้นำมาเป็นรากฐานการทำนายใน 2 ลักษณะ คือ

                    1.2.1 แบบทดสอบวัดความถนัดทางการเรียน (Scholastic Aptitude Test) ใช้วัดเพื่อทำนายว่าเด็กแต่ละคน จะสามารถเรียนต่อไปในแขนงใดจึงจะดีและจะเรียนไปได้มากเพียงใด

                    1.2.2 แบบทดสอบความถนัดเฉพาะอย่าง หรือความถนัดพิเศษ (Specific Aptitude Test) หมายถึง แบบทดสอบวัดความถนัดที่เกี่ยวกับอาชีพ หรือความสามารถพิเศษที่นอกเหนือ จากความสามารถด้านวิชาการ เช่น ความถนัดเชิงกล ความถนัดทางด้านดนตรี ศิลปะ การแกะสลัก กีฬา เป็นต้น ซึ่งความถนัดประเภทนี้มีความสัมพันธ์กับความถนัดทางการเรียน ส่วนจุดมุ่งหมายการใช้ประโยชน์ของแบบทดสอบมาตรฐาน

             1.3 แบบทดสอบวัดบุคลิกภาพ (Personal Social Test) เช่น แบบทดสอบวัดทัศนคติ (Attitude Test) ใช้วัดทัศนคติของบุคคล ที่มีต่อบุคลสิ่งของ การกระทำ สังคม ประเทศ ศาสนา แบบทดสอบวัดความสนใจ อาชีพ และแบบทดสอบวัดการปรับตัว ความมั่นใจ

           2. เน้นการนำประโยชน์ของผลสะท้อนจากการปฏิบัติของผู้เรียนมาปรับปรุงการแก้ไขงาน ผลลัพธ์ที่เกิดจากการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบการใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning: PBL) จำเป็นต้องมีการติดตามความก้าวหน้าของระดับคุณภาพ การปฏิบัติตามขั้นตอน ในแต่ละกระบวนการ และวัดระดับคุณภาพของผลงาน หรือผลิตภัณฑ์ เพื่อตรวจสอบการติดขัด หรือความก้าวหน้าตามทฤษฎีการรับรู้ และทฤษฎีการปฏิบัติ ซึ่งเป็นจุดสำคัญของผู้สอนในศตวรรษที่ 21 จะต้องมีเครื่องมือวัดผล และการจัดเก็บข้อมูลของนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อการนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบ แยกแยะ และจัดกลุ่มคุณภาพ นำไปออกแบบการปรับปรุงแก้ไข หรือสนับสนุนต่อยอดความก้าวหน้าของนักเรียนเป็นกลุ่ม หรือรายบุคคลต่อไป

          3. ใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการทดสอบวัด และประเมินผลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การติดตามความก้าวหน้าของทฤษฎีการรับรู้ และทฤษฎีการปฏิบัติ รวมถึงความรู้ความสามารถในศตวรรษที่ 21 เน้นการวัดผลประเมินผลพฤติกรรมการปฏิบัติ และเจตนคติ ในการปฏิบัติกิจกรรมตามการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้สอนมีการออกแบบไว้ อย่างเข้าถึงข้อมูลพฤติกรรมที่รวดเร็ว และกว้างขวาง ทั้งเรื่องสถานที่ และเวลา

          เครื่องมือการวัดผล และเทคโนโลยีเชิงระบบที่นำมาใช้สนับสนุนการติดตามความก้าวหน้า และวิเคราะห์ผล เก็บรวบรวมผลจึงต้องเหมาะสม และใช้ได้ตรงลักษณะของการใช้งานที่สามารถ ให้ผู้เรียนรายงานผลการรับรู้สภาพปัญหาได้ด้วยตนเอง

ข้อสรุปการอภิปราย สมมติฐานคำตอบของคำถามที่อยากรู้ ข้อสรุปของผังมโนทัศน์การได้มาซึ่งการค้นหาคำตอบ ข้อค้นพบเชิงคุณภาพของนักเรียนเป็นรายกลุ่ม และรายบุคคล มีการบันทึกผลงาน ภาพ เสียง หรือ วิดีโอ และอื่น ๆ ได้อย่างดี

          เครื่องมือเชิงระบบอีกอย่างคือ คลังข้อสอบที่สามารถจัดเก็บ วิเคราะห์ผลความรู้ ความสามารถของผู้เรียน ตามตัวชี้วัดมาตรฐานรายวิชา สามารถชี้จุดอ่อนของการเรียนรู้ได้รายตัวชี้วัดมาตรฐานรายวิชา ทั้งภาพรวมทุกคน และรายบุคคล ที่นำไปแก้ไขกระบวนการเรียนรู้ ทั้งรูปแบบกิจกรรม เครื่องมือที่ใช้ในการเรียนรู้ ข้อบกพร่องของผู้เรียน หรือแม้กระทั่งของผู้สอน และระดับความยาก ง่ายของข้อสอบ และถ้าเป็นระบบที่สามารถลดภาระงานเอกสารได้ จะส่งผลให้ผู้สอนมีเวลาเตรียมการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ และติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนได้มากขึ้น โดยเฉพาะการลดการกรอกเอกสารประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือแบบบันทึกผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (ปพ.5)

          4. สร้าง และพัฒนาระบบแฟ้มสะสมงาน (Portfolios) ของผู้เรียนให้เป็นมาตรฐาน และมีคุณภาพ ผลจากการใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการติดตาม วิเคราะห์ จัดเก็บสารสนเทศ
เชิงคุณภาพของผู้เรียนเป็นรายกลุ่ม และรายบุคคล รวมถึงการเก็บผลสัมฤทธิ์ภาพรวมทุกวิชา และภาพรวมเฉพาะทางความสามารถตามโปรแกรมการเรียนของผู้เรียนรายบุคคล

  • เก็บผลการวัดความถนัดทางการเรียนของโปรแกรมการเรียน และความถนัดเฉพาะทางด้านอาชีพ
  • เก็บผลการวัดบุคลิกภาพ ที่มีต่อการทำงานที่ถูกออกแบบกิจกรรมการทำงานในหน่วยบูรณาการเฉพาะทางสำหรับโปรแกรม การเรียน หรือกิจกรรมบริการสาธารณประโยชน์ในวันสำคัญของชาติ และของทุกศาสนา
  • เก็บชิ้นงาน ผลงานของผู้เรียนรายบุคคล ที่ถูกสร้างและพัฒนาเป็นระบบแฟ้มสะสมงาน (Portfolios) โดยคควรจะต้องมีการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการวิเคราะห์ จัดเก็บ และนำเสนอรายงาน ที่นำไปสู่การมองเห็นภาพความสามารถ ความถนัด และบุคลิกภาพของผู้เรียนทั้งตัว อันจะเป็นประโยชน์ของแก่การตัดสินใจ ในการวางเส้นทางการศึกษาต่อ สู่การประกอบอาชีพ ของผู้เรียน เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างแม่นยำ ไม่เกิดการหลงทางกับผู้เรียน

          สรุปได้ว่าแนวทางการเก็บผลงานตามตัวชี้วัดที่ 1.4 การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ควรมีเครื่องมือ และวิธีการจัดการเรียนรู้ กับทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่สอดคล้องกับระบบการประเมินทักษะในศตวรรษที่ 21 (Assessment of 21st  Century Skills) สำหรับนักเรียนโดยเฉพาะชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ควรเน้นการสร้างความสมดุลในการประเมินผลเชิงคุณภาพ โดยการใช้แบบทดสอบมาตรฐาน ที่มีความยืดหยุ่น และสอดคล้องกับผู้เรียน เน้นการนำประโยชน์ของผลสะท้อนจากการปฏิบัติของผู้เรียนมาปรับปรุงการแก้ไขงานมากกว่าการสอบได้ หรือสอบตก

ผลลัพธ์ที่เกิดจากการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ จำเป็นต้องมีการติดตามความก้าวหน้า
ของระดับคุณภาพการปฏิบัติตามขั้นตอนในแต่ละกระบวนการ และวัดระดับคุณภาพของผลงาน หรือผลิตภัณฑ์ เพื่อตรวจสอบการติดขัด

ผู้สอนต้องมีเครื่องมือวัดผล และจัดเก็บข้อมูลของผู้เรียน เป็นรายบุคคล เพื่อนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบ และแยกแยะ จัดกลุ่มคุณภาพ และสามารถนำไปออกแบบเพื่อการปรับปรุงแก้ไข หรือสนับสนุนต่อยอดความก้าวหน้าของผู้เรียนเป็นกลุ่ม หรือรายบุคคล โดยใช้เทคโนโลยี เพื่อยกระดับการทดสอบวัด และประเมินผลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ผู้สอนสามารถ ชี้จุดอ่อนของการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ตามรายตัวชี้วัดมาตรฐานรายวิชา ทั้งในภาพรวมทุกคน และรายบุคคล โดยต้องมีการสร้าง และพัฒนาระบบแฟ้มสะสมงาน (Portfolios) ของผู้เรียนให้เป็นมาตรฐาน และมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพในการติดตาม วิเคราะห์ จัดเก็บสารสนเทศเชิงคุณภาพของผู้เรียนเป็นรายกลุ่ม และรายบุคคล

ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางในการประเมินวิทยฐานะ ว21 ครูจึงมีความจำเป็นต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้และวิธีการวัดและประเมินผลเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวดังนี้

 เกณฑ์การตัดสินจะต้องมีผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ย้อนหลัง 5 ปีการศึกษาติดต่อกัน นับถึงวันสิ้นปีการศึกษาก่อนวันที่ยื่นคำขอโดยต้องผ่านเกณฑ์การประเมินไม่น้อยกว่า 3 ปีการศึกษาและผลงานทางวิชาการ ผ่านเกณฑ์ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด

ระดับคุณภาพ 1
ข้อกำหนดระดับคุณภาพ ตัวอย่างเอกสาร หลักฐาน ร่องรอย
1. เลือกใช้และหรือพัฒนาเครื่องมือวัดและประมิผลที่หลากหลาย เหมาะสมและสอดคล้องกับมาตฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด และหรือผลการเรียนรู้ และจุดประสงค์การเรียนรู้

2. มีการประเมินตามสภาพจริง
1. แผนการจัดการเรียนรู้
2. หลักฐาน ร่องรอการคัดสรร และหรือพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินผลที่หลากหลายเหมาะสม
3. หลักฐาน ร่องรอยการประเมินตามสภาพจริง
ระดับคุณภาพ 2
ข้อกำหนดระดับคุณภาพ ตัวอย่างเอกสาร หลักฐาน ร่องรอย
1. คัดสรรและหรือพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลที่หลากหลาย เหมาะสม และสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด และหรือผลการเรียนรู้ และจุดประสงค์การเรียนรู้

2. มีการประเมินตามสภาพจริง

3. มีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือวัดและประเมินผล
1. แผนการจัดการเรียนรู้
2. หลักฐาน ร่องรอการคัดสรร และหรือพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินผลที่หลากหลายเหมาะสม
3. หลักฐาน ร่องรอยการประเมินตามสภาพจริง
4. หลักฐาน ร่องรอยการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือและประเมินผล                 
ระดับคุณภาพ 3
ข้อกำหนดระดับคุณภาพ ตัวอย่างเอกสาร หลักฐาน ร่องรอย
1. สร้างและพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลที่หลากหลาย เหมาะสม และสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด และหรือผลการเรียนรู้ และจุดประสงค์การเรียนรู้

2. มีการประเมินตามสภาพจริง

3. มีการประมินคุณภาพของเครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนรู้ และนำผลการประเมิน คุณภาพของเครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนรู้ไปปรับปรุงให้มีคุณภาพสูงขึ้น

4. ให้คำแนะนำด้านการวัดและประเมินผล
1. แผนการจัดการเรียนรู้
2. หลักฐาน ร่องรอยการสร้างและพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินผลที่หลากหลายเหมาะสม
3. หลักฐาน ร่องรอยการประเมินตามสภาพจริง
4. หลักฐาน ร่องรอยการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือและประเมินผล
5. หลักฐาน ร่องรอยการนำผลการประมินคุณภาพ เครื่องมือมาปรับปรุง
6. หลักฐาน ร่องรอยการให้คำแนะนำด้านการวัดและประเมินผล
ระดับคุณภาพ 4
ข้อกำหนดระดับคุณภาพ ตัวอย่างเอกสาร หลักฐาน ร่องรอย
1. สร้างและพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลที่หลากหลาย เหมาะสม และสอดคล้อง กับมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด และหรือผลการเรียนรู้ และจุดประสงค์การเรียนรู้

2. มีการประเมินตามสภาพจริง

3. มีการประเมินคุณภาพของเครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนรู้ และนำผลการประเมิน คุณภาพของเครื่องมือวัดและประมินผลการเรียนรู้ไปปรับปรุงพัฒนาให้มีคุณภาพสูงขึ้น

4. เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นพี่เลี้ยง และให้คำปรึกษาค้นการวัดและประเมินผล
1. แผนการจัดการเรียนรู้
2. หลักฐาน ร่องรอยการสร้างและพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินผลที่หลากหลายเหมาะสม
3. หลักฐาน ร่องรอยการประเมินตามสภาพจริง
4. หลักฐาน ร่องรอย การตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือและประเมินผล
5. หลักฐาน ร่องรอยการนำผลการประมินคุณภาพ เครื่องมือมาปรับปรุง
6. หลักฐาน ร่องรอยการให้คำแนะนำด้านการวัดและประเงินผล 7. หลักฐานร่องรอยการเป็นแบบอย่างที่ดีในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ จนเป็นที่ยอมรับหรือ ได้รับยกย่องในวงวิชาชีพ
8. หลักฐานร่องรอยการเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่ครู ด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
9. หลักฐาน ร่องรอยการให้คำปรึกษาด้านการวัดละประเมินผลการเรียนรู้
ระดับคุณภาพ 5
ข้อกำหนดระดับคุณภาพ ตัวอย่างเอกสาร หลักฐาน ร่องรอย
1. สร้างและพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลที่หลากหลาย เหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด และหรือผลการเรียนรู้ และจุดประสงค์การเรียนรู้

2. มีการประเมินตามสภาพจริง

3. มีการประเมินคุณภาพของเครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนรู้ และนำผลการประเมิน คุณภาพของเครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนไปปรับปรุพัฒนาให้มีคุณภาพสูงขึ้น

4. เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นผู้นำ เป็นพี่เลี้ยงและให้คำปรึกษาด้านการวัดและประเมินผล
1. แผนการจัดการเรียนรู้
2. หลักฐาน ร่องรอยการสร้างและพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินผลที่หลากหลาย เหมาะสม
3. หลักฐาน ร่องรอยการประเมินตามสภาพจริง
4. หลักฐาน ร่องรอยการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือและประเมินผล
5. หลักฐาน ร่องรอยการนำผลการประเมินคุณภาพ เครื่องมือมาปรับปรุง
6. หลักฐาน ร่องรอยการให้คำแนะนำด้านการวัดและประเมินผล
7. มีหลักฐาน ร่องรอยการเป็นแบบอย่างที่ดีในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ จนเป็นที่ยอมรับ หรือได้รับยกย่องในวงวิชาชีพ
8. หลักฐานร่องรอยการเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่ครูด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
9. หลักฐาน ร่องรอยการให้คำปรึกษาด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
10. หลักฐาน ร่องรอยการมีผลงานเป็นที่ประจักษ์เป็นที่ยอมรับหรือได้รับการยกย่องในวงวิชาชีพ
11. หลักฐาน ร่องรอยการสร้างเครือข่ายด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ในการพัฒนาคุณภาพ การศึกษา

หวังว่าแนวทางนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ ^__^

ดร.อนุศร หงษ์ขุนทด
musicmankob@gmail.com

ที่มาของเกณฑ์: คู่มือการประเมินให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ส่วนที่ 6 หน้า 88-89

Comments

comments

Powered by Facebook Comments

ติดต่อ ดร.อนุศร หงษ์ขุนทด
error: Content is protected !!