fbpx
Digital Learning Classroom
DPAวิทยฐานะเชี่ยวชาญวิทยะฐานะศึกษานิเทศก์

หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้เลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ว15/2566

แชร์เรื่องนี้

หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้เลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ว15/2566

(ส่งพร้อมหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.7/ว15 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2566)

เนื่องจากการกำหนด มาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ว3/2564) ได้กำหนดให้ผู้ที่จะขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ “เชี่ยวชาญพิเศษ” จะต้องมีคุณสมบัติครบตามที่กำหนดโดยเฉพาะข้อที่ 4 คือ

ผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด

จึงเป็นที่มาของบทความวันนี้ ลองมาศึกษาตามดูครับ

ตำแหน่งครูเชี่ยวชาญ

ตำแหน่งผู้บริหารเชี่ยวชาญ

ตำแหน่งศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ

ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชี่ยวชาญ

โดยที่มาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 กำหนดให้มีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง และบางวิทยฐานะ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ เจตคติที่ดี คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ ที่เหมาะสม ในอันที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ราชการเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความก้าวหน้าแก่ราชการ ประกอบกับ มาตรฐานวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ทุกตำแหน่ง ได้กำหนดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ว่าต้องผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 (4) และมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ก.ค.ศ. จึงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้เลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ดังนี้

ในหลักเกณฑ์และวิธีการนี้

“ส่วนราชการ ” หมายความว่า สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แล้วแต่กรณี

“สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา” หมายความว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา แล้วแต่กรณี

“อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา” หมายความว่า อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา แล้วแต่กรณี

หลักเกณฑ์

1. คุณสมบัติของผู้เข้ารับการพัฒนา

1.1 ดำรงวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ หรือวิทยฐานะผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ หรือวิทยฐานะศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอในการพัฒนา หรือ

1.2 ดำรงวิทยฐานะผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชี่ยวชาญ หรือวิทยฐานะผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัด/กรุงเทพมหานครเชี่ยวชาญ หรือวิทยฐานะผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดเชี่ยวชาญ มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอในการพัฒนา

2. การพัฒนา

2.1 รูปแบบการพัฒนา

2.1.1 ให้ผู้เข้ารับการพัฒนาจัดทำข้อเสนอในการพัฒนาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสำหรับการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้เลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ตามแบบที่ ก.ค.ศ. กำหนดแนบท้ายหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ โดยข้อเสนอในการพัฒนาต้องสะท้อนให้เห็นถึงระดับการบฏิบัติที่คาดหวังของวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ในตำแหน่งที่ดำรงอยู่ และเป็นการพัฒนาโดยใช้โครงงาน หรือโครงการเป็นฐาน (Project-based Development) จากการชี้แนะ (Coach) โดยผู้ที่มีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญซึ่งมีความเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นผ่านช่องทางที่หลากหลายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง (Create an Impact) และส่งผลต่อวงวิชาการหรือวงวิชาชีพอย่างเป็นรูปธรรม

2.1.2 ระยะเวลาในการพัฒนา ไม่น้อยกว่า 4 เดือน แต่ไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่กำหนดไว้ตามข้อเสนอในการพัฒนา ทั้งนี้ จะเริ่มพัฒนาได้ไม่ก่อนวันที่ผู้เข้ารับการพัฒนารับทราบมติเห็นชอบข้อเสนอในการพัฒนาและผู้ชี้แนะ (Coach) จาก อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้งหรือรับทราบการได้รับความเห็นชอบข้อเสนอในการพัฒนาและผู้ชี้แนะ (Coach) จากส่วนราชการ แล้วแต่กรณี

กรณีที่ผู้เข้ารับการพัฒนาไม่สามารถดำเนินการพัฒนาให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนาภายในระยะเวลาตามข้อเสนอในการพัฒนาได้ ผู้เข้ารับการพัฒนาสามารถขอคำปรึกษา แนะนำจากผู้ชี้แนะ (Coach) และขอขยายระยะเวลาการพัฒนาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดการพัฒนาตามข้อเสนอในการพัฒนา โดยผู้เข้ารับการพัฒนาต้องเสนอขอขยายระยะเวลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับก่อนครบกำหนดการพัฒนาตามข้อเสนอในการพัฒนาที่ได้รับความเห็นชอบแล้วเพื่อขอความเห็นชอบขยายระยะเวลาการพัฒนาจาก อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง หรือส่วนราชการ แล้วแต่กรณี

2.2 ผู้ชี้แนะ (Coach)

2.2.1 ให้ผู้เข้ารับการพัฒนาทาบทามและเสนอชื่อผู้ชี้แนะ (Coach) ที่มีความเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ และขับเคลื่อนการพัฒนาจนบรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนา จำนวน 1 คน โดยผู้ชี้แนะ (Coach) ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1) เป็นผู้มีความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการหรือวงวิชาชีพ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อโครงงาน หรือโครงการของผู้เข้ารับการพัฒนา

2) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ไม่เป็นเจ้าหน้าที่ ที่ปรึกษา หรือผู้มีตำแหน่งบริหารในพรรคการเมือง

3) ไม่มีลักษณะต้องห้ามทำการพิจารณาทางปกครอง ตามมาตรา 13 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง พ.ศ. 2539
ทั้งนี้ ในการเสนอชื่อผู้ชี้แนะ (Coach) ให้แนบประวัติ พร้อมระบุเหตุผลและความเหมาะสมในการเป็นผู้ชี้แนะ (Coach) ตามแบบที่ ก.ค.ศ. กำหนดแนบท้ายหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ด้วย

2.2.2 กรณีผู้ชี้แนะ (Coach) ที่ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง หรือส่วนราชการ แล้วแต่กรณี เห็นชอบให้ปฏิบัติหน้าที่แล้ว แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ผู้เข้ารับการพัฒนาสามารถทาบทามและเสนอชื่อผู้ชี้แนะ (Coach) คนใหม่ ซึ่งมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ ข้อ 2.2.1 แทนได้โดยต้องได้รับความเห็นชอบจาก อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ ตั้ง หรือส่วนราชการแล้วแต่กรณี ก่อน ผู้ชี้แนะ (Coach) คนใหม่จึงจะสามารถทำหน้าที่ให้คำปรึกษ/ แนะนำ และขับเคลื่อนการพัฒนาจนบรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนาได้
2.3 คณะกรรมการประเมินผลการพัฒนา

2.3.1 กรณีผู้เข้ารับการพัฒนาซึ่งดำรงตำแหน่งครู ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือตำแหน่งศึกษานิเทศก์ แล้วแต่กรณีให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง แล้วแต่กรณีแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการพัฒนา ประกอบด้วย

1) ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ หรือมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งมีความเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ หรืออนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้งที่มีความรู้ ความสามารถ หรือประสบการณ์เหมาะสม จำนวน 1 คน

2) ผู้ชี้แนะ (Coach)

3) ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นของผู้เข้ารับการพัฒนาโดยให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งที่มีความเหมาะสมเป็นประธานกรรมการ และให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นของผู้เข้ารับการพัฒนาเป็นกรรมการ และเลขานุการ

2.3.2 กรณีผู้เข้ารับการพัฒนาซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร หรือตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด แล้วแต่กรณี
ให้ส่วนราชการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการพัฒนา ประกอบด้วย

1) ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ หรือมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งมีความเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ จำนวน 2 คน

2) ผู้ชี้แนะ (Coach)

โดยให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งที่มีความเหมาะสมเป็นประธานกรรมการ และให้ส่วนราชการมอบหมายข้าราชการ จำนวน 1 คน เป็นเลขานุการ

2.4 การประเมินผลการพัฒนา

ผู้เข้ารับการพัฒนาต้องมีผลการพัฒนาผ่านเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการประเมินฯ และได้รับการรับรองจาก อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง หรือส่วนราชการ แล้วแต่กรณี

กรณีมีผลการพัฒนาไม่ผ่านและคณะกรรมการประเมินฯ ให้ขยายระยะเวลาในการพัฒนาผู้เข้ารับการพัฒนาสามารถปรับข้อเสนอในการพัฒนาร่วมกับคณะกรรมการประเมินฯ และขยายเวลาการพัฒนาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รับทราบผลการพัฒนา หากขยายระยะเวลาจนครบกำหนดแล้วยังมีผลการพัฒนาไม่ผ่าน ให้เสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง หรือส่วนราชการแล้วแต่กรณี พิจารณา

2.5 ผลการพัฒนา

2.5.1 ผลการพัฒนาให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการประเมินฯ ดำเนินการประเมินโดยมีผลการพัฒนาผ่านเป็นเอกฉันท์

2.5.2 ให้นำผลการพัฒนาไปใช้ในการแต่งตั้งให้เลื่อนเป็นวิทยฐานะเชียวชาญพิเศษได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ผ่านการพัฒนา

3. กรณีเปลี่ยนตำแหน่งและผ่านการพัฒนาในตำแหน่งเดิมตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้แล้ว สามารถนำผลการพัฒนาในตำแหน่งเดิมที่ยังไม่หมดอายุไปใช้ในการแต่งตั้งให้เลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษในตำแหน่งใหม่ได้ ทั้งนี้ ต้องไม่ก่อนวันที่ได้รับการอนุมัติให้เลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ และไม่ก่อนวันที่ผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้เลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ

4. การผ่านการพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของคุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด

วิธีการ

1. กรณีผู้เข้ารับการพัฒนาซึ่งดำรงตำแหน่งครู ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือตำแหน่งศึกษานิเทศก์ แล้วแต่กรณี

1.1 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

1.1.1 ผู้ที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ ข้อ 1 และประสงค์จะเข้ารับการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้เลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ให้จัดทำข้อเสนอในการพัฒนา และเสนอชื่อผู้ชี้แนะ (Coach) พร้อมทั้งแนบประวัติและระบุเหตุผลความเหมาะสมในการเป็นผู้ชี้แนะ (Coach) ตามแบบที่ ก.ค.ศ. กำหนดแนบท้ายหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ เสนอต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ ถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ แล้วแต่กรณี

1.1.2 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง แล้วแต่กรณี พิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอในการพัฒนาและผู้ชี้แนะ (Coach) พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการพัฒนา ตามหลักเกณฑ์ข้อ 2.3.1

1.1.3 ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาดำเนินการพัฒนาตามข้อเสนอในการพัฒนา โดยสามารถขอคำปรึกษาและข้อเสนอแนะจากผู้ชี้แนะ (Coach) เพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสามารถพัฒนางานจนบรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนาได้

1.1.4 เมื่อครบกำหนดการพัฒนาแล้ว ให้คณะกรรมการประเมินฯ ดำเนินการประเมินผลการพัฒนาตามแบบที่ ก.ค.ศ. กำหนดแนบท้ายหลักเกณฑ์และวิธีการนี้โดยเร็ว และให้มีการดำเนินการ ดังนี้

1) กรณีมีผลการพัฒนาผ่าน ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นแจ้งผลการพัฒนาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ แล้วแต่กรณี ทราบเพื่อดำเนินการตามข้อ 1.1.5 ต่อไป

2) กรณีมีผลการพัฒนาไม่ผ่าน คณะกรรมการประเมินฯ สามารถพิจารณาให้ผู้เข้ารับการพัฒนาปรับข้อเสนอในการพัฒนาหรือขยายเวลาการพัฒนาได้ ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รับทราบผลการพัฒนา โดยให้คณะกรรมการประเมินฯ บันทึกเหตุผลให้ชัดเจน และให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นรายงานต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ แล้วแต่กรณี ทราบ และรายงาน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง แล้วแต่กรณี เพื่อทราบด้วย

1.1.5 เมื่อการพัฒนาเสร็จสิ้นแล้ว ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ แล้วแต่กรณี เสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้งแล้วแต่กรณี พิจารณารับรองผลการพัฒนา

1.2 สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

1.2.1 ผู้ที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ข้อ 1 และประสงค์จะเข้ารับการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้เลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ให้จัดทำข้อเสนอในการพัฒนา และเสนอชื่อผู้ชี้แนะ (Coach) พร้อมทั้งแนบประวัติและระบุเหตุผลความเหมาะสมในการเป็นผู้ชี้แนะ (Coach) ตามแบบที่ ก.ค.ศ. กำหนดแนบท้ายหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ เสนอต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ ถึงสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แล้วแต่กรณี

1.2.2 ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาแล้วแต่กรณี เสนอ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง พิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอในการพัฒนาและผู้ชี้แนะ (Coach) พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการพัฒนา ตามหลักเกณฑ์ ข้อ 2.3.1

1.2.3 ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาดำเนินการพัฒนาตามข้อเสนอในการพัฒนา โดยสามารถขอคำปรึกษาและข้อเสนอแนะจากผู้ชี้แนะ (Coach) เพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการพัฒนางานจนบรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนาได้

1.2.4 เมื่อครบกำหนดการพัฒนาแล้ว ให้คณะกรรมการประเมินฯ ดำเนินการประเมินผลการพัฒนาตามแบบที่ ก.ค.ศ. กำหนดแนบท้ายหลักเกณฑ์และวิธีการนี้โดยเร็ว และให้มีการดำเนินการ ดังนี้

1) กรณีมีผลการพัฒนาผ่าน ให้เลขานุการคณะกรรมการแจ้งผลการพัฒนาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาแล้วแต่กรณี ทราบ เพื่อดำเนินการตามข้อ 1.2.5 ต่อไป

2) กรณีมีผลการพัฒนาไม่ผ่าน คณะกรรมการประเมินฯ สามารถพิจารณาให้ผู้เข้ารับการพัฒนาปรับข้อเสนอในการพัฒนาหรือขยายเวลาการพัฒนาได้ ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รับทราบผลการพัฒนา โดยให้คณะกรรมการประเมินฯ บันทึกเหตุผลให้ชัดเจน และให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นรายงานต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เพื่อให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แล้วแต่กรณี ทราบ และรายงาน อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง เพื่อทราบด้วย

1.2.5. เมื่อการพัฒนาเสร็จสิ้นแล้ว ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แล้วแต่กรณี เสนอ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง พิจารณารับรองผลการพัฒนา

2. กรณีผู้เข้ารับการพัฒนาซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร หรือตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดแล้วแต่กรณี

2.1 ผู้ที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ข้อ 1 และประสงค์จะเข้ารับการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้เลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ให้จัดทำข้อเสนอในการพัฒนาและเสนอชื่อผู้ขี้แนะ (Coach) พร้อมทั้งแนบประวัติและระบุเหตุผลความเหมาะสมในการเป็นผู้ขี้แนะ (Coach) ตามแบบที่ ก.ค.ศ. กำหนดแนบท้ายหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ เสนอต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ ถึงส่วนราชการ

2.2 ให้ส่วนราชการพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอในการพัฒนาและผู้ชี้แนะ (Coach) พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการพัฒนา ตามหลักเกณฑ์ ข้อ 2.3.2

2.3 ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาดำเนินการพัฒนาตามข้อเสนอในการพัฒนาโดยสามารถขอคำปรึกษาและข้อเสนอแนะจากผู้ชี้แนะ (Coach) เพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการพัฒนางานจนบรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนาได้

2.4 เมื่อครบกำหนดการพัฒนาแล้ว ให้คณะกรรมการประเมินฯ ดำเนินการประเมินผลการพัฒนาตามแบบที่ ก.ค.ศ. กำหนดแนบท้ายหลักเกณฑ์และวิธีการนี้โดยเร็ว และให้มีการดำเนินการ ดังนี้

2.4.1 กรณีมีผลการพัฒนาผ่าน ให้เลขานุการคณะกรรมการประเมินฯ แจ้งผลการพัฒนาให้ส่วนราชการทราบ เพื่อดำเนินการตามข้อ 2.5 ต่อไป

2.4.2 กรณีมีผลการพัฒนาไม่ผ่าน คณะกรรมการประเมินฯ สามารถพิจารณาให้ผู้เข้ารับการพัฒนาปรับข้อเสนอในการพัฒนาหรือขยายเวลาการพัฒนาได้ ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รับทราบผลการพัฒนา โดยให้คณะกรรมการประเมินฯ บันทึกเหตุผลให้ชัดเจน และให้เลขานุการคณะกรรมการประเมินฯ รายงานให้ส่วนราชการทราบด้วย

2.5 เมื่อการพัฒนาเสร็จสิ้นแล้ว ให้ส่วนราชการพิจารณารับรองผลการพัฒนา

3. การประเมินผลการพัฒนาตามข้อ 1 และข้อ 2 หากมีการบรรลุวัตถุประสงค์การพัฒนาก่อนครบกำหนดเวลาการพัฒนา คณะกรรมการประเมินฯ สามารถประเมินผลการพัฒนาก่อนครบกำหนดเวลาการพัฒนาได้

4. การรับรองผลการพัฒนาของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง หรือส่วนราชการ แล้วแต่กรณี ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว กรณีผู้เข้ารับการพัฒนาจะเกษียณอายุราชการให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน ของปีที่จะพ้นจากราชการ

กรณีที่ไม่สามารถดำเนินการหรือมีปัญหาในทางปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดให้เสนอ ก.ค.ศ. พิจารณา กำหนดหรือวินิจฉัย

Comments

comments

Powered by Facebook Comments

ติดต่อ ดร.อนุศร หงษ์ขุนทด
error: Content is protected !!