fbpx
Digital Learning Classroom
ข่าวการศึกษานโยบายการศึกษาหลักสูตรฐานสมรรถนะ

แนวปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนรายวิชาประวัติศาสตร์ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ

แชร์เรื่องนี้

ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ

แนวปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนรายวิชาประวัติศาสตร์ เรื่อง การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

ตามจุดเน้นและนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำหนดให้สถานศึกษาจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจ รักความเป็นไทย หวงแหนในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษาสืบสานและต่อยอด และนำมาปรับประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน

กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ทำการประกาศโดย อาศัยอำนาจตามความใน

  • มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545
  • ประกอบกับมติคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 11/2565 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 

จึงกำหนดให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ 1 รายวิชา

  • โดยจัดเวลาเรียนรายวิชาประวัติศาสตร์ ระดับประถมศึกษา 40 ชั่วโมงต่อปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 40 ชั่วโมงต่อปี (1 หน่วยกิตต่อปี)
  • และระดับมัธยมศึกษา ตอนปลาย รวม 3 ปี 80 ชั่วโมง (2 หน่วยกิต) ตามแนวปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนรายวิชาประวัติศาสตร์

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยประกาศ ณ วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2565

นั้นก็หมายความว่าในหลักสูตรสถานศึกษาจะต้องมีการปรับหลุกสูตรในแต่ละโรงเรียนของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้มีรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ เพิ่มขึ้นอีก 1 รายวิชา โดยมีแนวปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนรายวิชาประวัติศาสตร์ ตามประกาศแนบท้าย ดังนี้


แนวปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนรายวิชาประวัติศาสตร์

แนบท้ายประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2565

เรื่อง การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

เพื่อให้การบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษา ตามโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน รวมทั้งบ่มเพาะให้ผู้เรียนภาคภูมิใจในความเป็นชาติใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์วิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ เข้าใจการดำรงชีวิตของมนุษย์และการอยู่ร่วมกันในสังคม การเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย กาลเวลา ตามเหตุปัจจัยต่าง ๆ ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี มีคุณธรรม ธำรงรักษาประเพณีและวัฒนธรรมไทย และส่งเสริมการเรียนการสอนรายวิชาประวัติศาสตร์

จึงกำหนดแนวปฏิบัติแนบท้ายประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เรื่อง การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังต่อไปนี้

1. การบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษา ตามโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

ให้…สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา โดยให้มีรายวิชาพื้นฐานตาม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ 1 รายวิชา ทั้งนี้ ให้มีโครงสร้างเวลาเรียนสอดคล้องกับโครงสร้างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ดังนี้

1.1 ระดับประถมศึกษา (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6) ให้จัดเวลาเรียนรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ 40 ชั่วโมงต่อปี

1.2 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3) ให้จัดเวลาเรียนรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ 40 ชั่วโมงต่อปี (1 หน่วยกิตต่อปี)

1.3 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6) ให้จัดเวลาเรียนรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ รวม 3 ปี 80 ชั่วโมง (2 หน่วยกิต)

2. การส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนรายวิชาประวัติศาสตร์ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานทุกแห่ง ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนรายวิชาประวัติศาสตร์

  • ทั้งด้านหลักสูตร
  • การจัดการเรียนรู้
  • การเลือกใช้สื่อและแหล่งการเรียนรู้
  • การวัดและประเมินผลการเรียนรู้และอื่น ๆ ดังนี้

2.1 ด้านหลักสูตร ให้สถานศึกษาทบทวนหลักสูตรสถานศึกษาให้เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ทั้งด้านการจัดการเรียนการสอน และการวัดประเมินผลการเรียนรู้ ดังนี้

1) กำหนดวิสัยทัศน์ของหลักสูตร ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกับเป้าหมายของการเรียนการสอนประวัติศาสตร์

2) กำหนดนโยบายการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาในเชิงของการบูรณาการให้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ใช้ประวัติศาสตร์เป็นบริบท (Contexts) และบูรณาการประวัติศาสตร์กับหน้าที่พลเมืองศีลธรรม เพื่อให้เกิดเป็นจริยธรรมของผู้เรียน สำหรับการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน

3) สร้างนิเวศการเรียนรู้ให้ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ เช่น พิพิธภัณฑ์ หอจดหมายเหตุ ห้องเกียรติยศ ป้ายนิเทศ มุมประวัติศาสตร์

2.2 ด้านการจัดการเรียนรู้ ให้ออกแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ไปต่อยอด และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันดังนี้

1) ใช้แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ เช่น อุทยานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ชุมชน

2) สอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับการเป็นพลเมือง และศีลธรรมของผู้เรียนตามความเหมาะสม

3) จัดกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน โดยให้ผู้เรียนได้ศึกษา วิเคราะห์ ถกแถลง และแลกเปลี่ยนความเห็นผ่านสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์

4) ช้วิธีการทางประวัติศาสตร์เป็นกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์เปรียบเทียบ ประเมินหลักฐาน ความคิดผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์

2.3 ด้านการเลือกใช้สื่อและแหล่งการเรียนรู้

1) ใช้สื่อร่วมสมัยที่เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน เช่น สื่อดิจิทัล การ์ตูนแอนิเมชัน

2) ใช้สื่อที่ส่งเสริมกระบวนการคิด เช่น สื่อเกม สื่อเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง (AR)

3) ใช้สื่อจากแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี บุคคลสำคัญ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน

2.4 ด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้

1) ใช้วิธีการประเมินตามสภาพจริง โดยเน้นการประเมินกระบวนการคิดมากกว่าการประเมินความจำ

2) ใช้การประเมินระหว่างเรียน เป็นกระบวนการพัฒนาผู้เรียน

3) ใช้วิธีการประเมินที่หลากหลาย เช่น การสัมภาษณ์ การสำรวจ การสอบถาม

ทั้งนี้ ให้สถานศึกษาร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ร่วมกันจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์อย่างหลากหลาย

 

ที่มา: หน้า 13 เล่ม 140 ตอนพิเศษ 39 ง ราชกิจจานุเบกษา 20 กุมภาพันธ์ 2566

Comments

comments

Powered by Facebook Comments

ติดต่อ ดร.อนุศร หงษ์ขุนทด
error: Content is protected !!